วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

ผีตาโม่


ผีตาโม่เป็นความเชื่อของคนโบราณที่มีประวัติมายาวนานของผู้คนในท้องถิ่น อำเภอหล่มเก่าที่อยู่ตามชนบทแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังจำกันได้ ในสมัยเป็นเด็กจะถูกผู้ใหญ่หลอกอยู่เสมอขณะที่ดื้อรั้น ซุกซน
ผีตาโม่เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ได้หยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกุศโลบายในการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน ตาโม่เป็นความเชื่อของคนในสมัยโบราณ 200 ปีเศษ จากคำบอกเล่าของคุณตาผอง จันทเสนาและคุณตา ศักษาสุพัฒน์ ตรีถัน อดีตประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอหล่มเก่า และคุณตาคุณยายอีกหลายๆท่าน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตรงกันว่า สมัยเป็นเด็กท่านก็เคยถูกหลอกมาแล้วว่าคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังมาต่อๆกันว่า ตาโม่ เป็นคนที่มีรูปร่างอ้วน สูงใหญ่ หน้าตาดุแต่มีนิสัยขี้เล่น และชอบดื่มสุรา เมื่อมีงานประเพณีที่ไหนก็จะร่วมด้วยเสมอ โดยแต่งตัวเป็นผีล้อเลียนให้น่ากลัว แล้วนำเอาวัสดุท้องถิ่นที่หาได้ในสมัยนั้น เช่นหวดนึ่งข้าวเหนียว เสื้อผ้าขาดผ้าห่มขาด แหขาด สีของหม้อดิน สีเปลือกไม้มาแต่งแต้มตามร่างกายให้ดูหน้ากลัว ที่เอวจะแขวนกะโหลก กะลา กระดิ่ง เพื่อให้เกิดเสียงดังเวลา เดินหรือเต้น ในมือถือปลัดขิกที่ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนหรืออาวุธเที่ยวหลอกหลอนผู้คน และเด็กๆที่มาเที่ยวชมงานสร้างความหวาดเสียวตื่นเต้น น่ากลัวให้กับผู้คนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อตาโม่ได้เสียชีวิตลง ผีตาโม่จึงเป็นที่กล่าวขวัญถึง และติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนอย่างไม่รู้ลืม

ลักษณะของผีตาโม่ไทหล่ม
ผีตาโม่แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ
1.ผีตาโม่เป็นหุ่นใหญ่
2.ผีตาโม่ที่ใช้คนแสดง (สวมชุดผีตาโม่ และสวมหน้ากาก)
3.ผีตาโม่ที่ใช้คนอ้วนแสดง จะมีการวาดหน้าตาลงพุงสวมหน้ากาก
ผีตาโม่หุ่นใหญ่
ตัวหุ่นสร้างขึ้นด้วยวัสดุง่ายๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น โดยเอาสุ่มไก่มาซ้อนกันหลายๆชั้นเป็นลำตัว พันด้วยผ้าสีดำ แล้วใช้เข่งมาคว่ำทำเป็นส่วนศรีษะ ก่อนจะนำตาข่ายลวดมาขึ้นรูปเป็นเขาแล้ว พันด้วยผ้าทั้งสองข้าง เอากะลามะพร้าวมาติดเข้ากับเข่งทำเป็นลูกตา ใช้กระชอนมาติดโดยเอาด้ามชี้ขึ้นฟ้าในตำแหน่งที่เป็นจมูก ปากทำด้วยกระดงวาดด้วยสี ให้แลดูเหมือนอ้าปากมีเขี้ยวโง้งออกมาส่วนแขนและขาทำจากฟางมัดด้วยลวด แล้วใช้ทางมะพร้าวมาทำเป็นเท้า ตามลำตัวแขวนด้วยกระดิ่งและกะลอ เมื่อเคลื่อนที่ไปจะกระทบกันเกิดเสียงโกรกกรา
ที่ว่ามานี้เป็นหุ่นผีตาโม่ใหญ่ ที่ปกติใช้ร่วมในขบวนแห่ไปตามท้องถนน โดยใส่ไปบนกระบะของรถยนต์
ผีตาโม่อีกแบบหนึ่งคือผีตาโม่เล็ก แบบนี้ใช้คนแต่งตัวเป็นผีใช้หวดข้าวเหนียวคว่ำลงทำเป็นหน้ากากสวมหัว วาดหน้าตาให้เป็นลูกตาโปน มีปากกว้าง เขี้ยวยาวโง้ง ใช้กระดาษแข็งตัดทำจมูกและเขา วาดด้วยสีทำเป็นลวดลาย โดยเฉพาะลิ้นทำให้ยาวเป็นพิเศษและทาด้วยสีแดง เสื้อผ้าที่ใช้มักเป็นสีดำ ประดับด้วยเศษผ้าตัดเป็นริ้วๆ ใช้หมอนใส่ไว้ให้ดูเหมือนพุงโต
ส่วนผู้ที่มีพุงใหญ่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องใส่เสื้อ เขาจะใช้สีวาดลวดลายตามลำตัวเป็นหน้าผีแทน น่าเกลียดน่ากลัวไปอีกแบบผีตาโม่ชนิดที่ใช้คนแสดงนี้จะมีมากมายหลายตัวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มาร่วมในขบวนแห่บั้งไฟเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน เมื่อบรรดาผีเหล่านี้มารวมตัวกันเต้นเป็นกลุ่มใหญ่ จะเป็นสีสันดึงดูดความสนใจ ดัวยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น
Share:

ประเพณีแห่ผีตาโขน


ที่มานั้นไม่ชัดเจน แต่กล่าวกันว่าเป็นประเพณีที่ใกล้เคียงกับการบูชาบรรพบุรุษของอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง (ในอดีตแนวเขตแดน ด่านซ้าย เชียงคาน และหล่มเก่า เป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของอาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง) ในอีกที่มาหนึ่งกล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่า กลับสู่เมืองบรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” อย่างในปัจจุบัน
ผีตาโขน ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก

ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เวลาแห่ คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2 ตัว คือผีตาโขนชาย1ตัวและหญิง1ตัว สังเกตจากเครื่องเพศปรากฏชัดเจนที่ตัวหุ่น ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำ การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี

ผีตาโขนเล็ก ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน
ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่ เครื่องแต่งกายของผีตาโขน ส่วนใหญ่มักประกอบด้วย

ส่วนหัวหรือที่เรียกว่าหน้ากากนั้น ทำด้วย "หวด" หรือภาชนะที่ใช้นึ่งข้าวเหนียว ซึ่งเป็นส่วนด้านบนดูคล้ายหมวก ส่วนหน้านั้นทำจากโคนก้านมะพร้าว นำมาตัดปาดให้เป็นรูปหน้ากากและเจาะช่องตา จมูกนั้นทำจากไม้เนื้ออ่อน แกะให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามแต่จินตนาการของผู้สร้างสรรค์ โดยทำเป็นลักษณะยาวแหลมคล้ายงวงช้าง ส่วนเขานั้นทำจากปลีมะพร้าวแห้ง โดยนำส่วนประกอบต่าง ๆ มาเย็บติดเข้าไว้ด้วยกัน และทาสีสันวาดลวดลายไปบนด้านหน้าของหน้ากากนั้น ๆ หลังจากนั้นจะเย็บเศษผ้าติดไว้บริเวณด้านบน(หลัง) เพื่อให้คลุมส่วนคอของผู้ใส่ไปจนถึงไหล่

ด้านเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกาย นั้น เป็นชุดที่ทำจากเศษผ้านำมาเย็บติดกัน และมี "หมากกะแหล่ง" หรือกระดิ่ง (คล้ายกับที่แขวนคอโค, กระบือ) แขวนผูกไว้บริเวณเอว เพื่อให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะเวลาเดิน และส่ายสะโพก

ส่วนประกอบสุดท้าย คือ ดาบหรือง้าว ที่จะทำจากไม้เนื้ออ่อน ในขบวนแห่จะประกอบไปด้วยการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน

เนื่องจากงานประเพณีผีตาโขนเป็นงานบุญใหญ่ซึ่งเรียกกันว่างานบุญหลวง จัดขึ้นที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย โดยมีการละเล่นผีตาโขน มีการเทศน์มหาชาติ มีการทำบุญพระธาตุศรีสองรักและงานบุญต่างๆเข้ามาผสมอยู่รวม ๆ กัน จึงมีการจัดงานกัน 3 วัน

วันแรก เริ่มพิธีตอนเช้า 04.00-05.00 น. คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าขันแปด(พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อนิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพมาก และมักเนรมิตกายอยู่ในมหาสมุทร เพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้เกิดความสุขสวัสดี เมื่อถึงแล้วผู้อันเชิญต้องกล่าวพระคาถาและให้อีกคนลงไปในน้ำ งมก้อนหินใต้น้ำขึ้นมา ถามว่า “ใช่พระอุปคุตต์หรือไม่” ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งตอบว่า “ไม่ใช่” พอก้อนหินก้อนที่ 3 ให้ตอบว่า “ใช่ นั่นแหละพระอุปคุตต์ที่แท้จริง” เมื่อได้พระอุปคุตต์มาแล้ว ก็นำใส่พาน แล้วนำขบวนกลับที่หอพระอุปคุตต์ ทำการทักขิณาวัฏ 3 รอบ มีการยิงปืนและจุดประทัด ซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับหรืออยู่ตามที่ต่างๆก็จะมาร่วมขบวนด้วยความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับเสียงหมากกระแร่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้ดังเสียงดัง

วันที่สอง เป็นพิธีแห่พระเวส ในขบวนประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ พระสงฆ์ 4 รูป นั่งบนแคร่หามตามด้วย เจ้าพ่อกวน นั่งอยู่บนกระบอกบั้งไฟ ท้ายขบวนเป็นเจ้าแม่นางเทียม กับบริวาร ชาวบ้าน และเหล่าผีตาโขน เดินตามเสด็จไปรอบเมือง ก่อนตะวันตกดิน สำหรับคนที่เล่นเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนปีหน้าฟ้าใหม่แล้วค่อยทำเล่นกันใหม่

วันที่สาม เป็นการรวมเอางานบุญประเพณีประจำเดือนต่างๆของปีมารวมกันจัดในงานบุญหลวง ประชาชนจะมานั่งฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิต

งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ถือเป็นงานที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอันดีงามที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
Share: