วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ที่มาของวัน อีสเตอร์

คำว่า “อีสเตอร์” ที่ถูกนำมาใช้เรียก “เทศกาลเฉลิงฉลองการที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย” นี้ได้มาจากนามของ “เทวี หรือพระแม่เจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิ” ของพวกแองโกล-แซกซอน ที่มีนามว่า “Eastre”

เข้าใจว่าการฉลองการเป็นขึ้นมาจากความตายหรือการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์นั้นมาเกี่ยวข้องกับฤดูใบไม้ผลิ เพราะ
1. วันอีสเตอร์ อยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (ระหว่างเดือนมีนาคม และ เมษายน)
2. ฤดูใบไม้ผลิ เป็นสัญญลักษณ์ของชีวิตใหม่ เพราะต้นไม้ใบหญ้าที่ดูเหมือนตายไปแล้วในฤดูหนาวกลับผลิใบออกดอกดุจเกิดใหม่ นับเป็นภาพที่เหมาะสมกับการพรรณนาถึงการคืนพระชนม์ของพระคริสต์

แต่ตัวเทศกาลนี้ จริงๆแล้วได้พัฒนามาจากเทศกาล “ปัสกา” (Passover) ของยิว ช่วงสุดท้ายของชีวิตพระเยซูคริสต์ก็อยู่ในช่วงเทศกาลปัสกาดังกล่าว

ดั้งเดิมแล้ว วันอีสเตอร์ ได้ถือปฏิบัติกันในวันปัสกา (วันที่ 14 เดือนนิสาน) จนกระทั่งในกลางศตวรรษที่ 2 คริสเตียนบางกลุ่มเริ่มเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์นั้น ในวันอาทิตย์หลังจากวันที่ 14 เดือนนิสาน โดยถือเอาวันศุกร์ก่อนหน้าเป็นวันที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงสิ้นพระชนม์ สุดท้ายก็เกิดการโต้เถียงในเรื่องวันที่ถูกต้องในการฉลองอีสเตอร์

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 197 วิคเตอร์ แห่งโรม ได้บีบพวกคริสเตียนที่ยังยืนกรานที่จะฉลองอีสเตอร์ในวันที่ 14 เดือนนิสาน ให้ออกไปจากหมู่คณะ แต่การถกเถียงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป จนกระทั่งมาถึงต้นศตวรรษที่ 4 จักรพรรดิ คอนสแตนติน ทรงบัญชาให้ถือรักษาวันอีสเตอร์เป็นวันอาทิตย์ หลังวันที่ 14 เดือนนิสาน แทนการฉลองในวันที่ 14 เดือนนิสานเหมือนที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม

ด้วยเหตุนี้เอง วันอีสเตอร์จึงได้รับการเฉลิมฉลองในวันอาทิตย์แรกหลังจากคืนวันเพ็ญแรก ที่ตามหลังวัน “วสันตวิษุสวัต” (Vernal equinox) ซึ่งเป็น “วันที่กลางวันเท่ากับกลางคืน” ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม พูดง่ายๆก็คือจากวันนี้มาจนถึงวันนี้ วันอีสเตอร์จะต้องมาหลังจากวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี

จึงสรุปได้ว่า เมื่อตอนเริ่มแรกนั้น อีสเตอร์ เป็นงานเลี้ยงเฉลิมฉลองที่ผูกพันใกล้ชิดกับวันปัสกา ซึ่งเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงนำชาวอิสราเอล ให้อพยพรอดออกมาจากการเป็นทาสในอียิปต์ และเหตุการณ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงถูกตรึงตายไถ่ผู้ศรัทธาในพระองค์ให้รอดพ้นจากโทษบาป

จนกระทั่งในศตวรรษที่ 4 อีสเตอร์ จึงแยกออกมาเป็นการเฉลิงฉลองเพื่อระลึกถึง “การเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์” หลังจากที่พระองค์ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปของมนุษย์และการฉลองนี้จะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เคยเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิของชาวยุโรป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์ ดำเนินมายาวนานนับพันปีแล้ว แต่สำหรับชาวไทยนั้น วันอีสเตอร์ยังนับว่าเป็น สิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น