วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี โปรดเกล้าให้สถาปนาขึ้น แต่ทรงสร้างค้างไว้แต่เพียงรากพระวิหาร ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างใหม่ทั้งอาราม ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฎิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก

ส่วนมูลเหตุที่จะทรงสร้างวัดนี้ มีเรื่องราวปรากฏมาว่า “ เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมาเป็นราชธานีแล้ว ความมุ่งหมายที่จะทำนุบำรุงให้เหมือนกรุงศรีอยุธยาเดิม ด้วยนับถือกันว่า ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเป็นสมัยที่บ้านเมืองรุ่งเรือง เรียกกันว่า “ ครั้งบ้านเมืองดี ” รั้ววังวัดวาที่สร้างขึ้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มักถ่ายแบบมาจากกรุงศรีอยุธยา ยกตัวอย่างเช่นที่สร้างวัดสุทัศน์ฯ เป็นที่ประดิษฐานพระโตซึ่งเชิญมาแต่กรุงสุโขทัยในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก็มีพระราชประสงค์จะสร้างแทนวัดพระเจ้าพนัญเชิงที่กรุงเก่าดังนี้เป็นต้น ” ๒

พระศรีศากยมุนีมาถึง

อีกฉบับหนึ่ง ด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชรับสั่งใส่เกล้าฯ ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสั่งว่า ทรงพระราชศรัทธาให้อาราธนาพระพุทธรูปซึ่งอยู่ ณ เมืองสุโขทัยลงมากรุงเทพฯแล้ว ทอดทุ่นอยู่กลางน้ำหน้า พระตำหนักแพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการมหรสพสมโภชเพลากลางวัน กลางคืน ครั้นถึงวัน ๓ ฯ ๙ ๕ ค่ำ (ไม่มีปี ไม่มีศักราช เห็นจะเป็นปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐) เพลาเช้า พระสงฆ์ ๒๐ รูปรับพระราชทานฉันที่เรือบัลลังก์ แล้วเถิงเพลาบ่าย ๒ โมง จะได้ตั้งบายศรี ทอง เงินตอง ที่เรือหน้าพระพุทธรูป สมโภชเวียนพระเทียนนั้น ให้ข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนมารับแว่นเวียนพระเทียนให้พร้อม จงทุกหมู่ทุกกรม อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

สั่งบายศรีแปลกอยู่ บายศรีเงินสำรับ ๑ ทองสำรับ ๑ ตอง ๒ สำรับ รวม ๔ สำรับให้มีพุ่มข้าว ขันเชิงพานรองนำวักแว่น (สำหรับ) เวียนเทียน ติดเทียน เทียนยอดบายศรีแป้งหอม น้ำมันหอม

อนึ่ง พระพุทธรูปนั้นไม่ใช่องค์เดียวเห็นจะ ๓ องค์ จึงสั่งเครื่องนมัสการให้สนมพลเรือนรับเครื่องทองน้อย สำหรับบูชาพระพุทธรูปองค์ใหญ่สำรับ ๑ เครื่องกระบะมุกสำหรับบูชาพระพุทธรูปองค์น้อย ๒ สำรับ

เชิญพระศรีศากยมุนีสถิตวัดสุทัศนเทพวราราม


พระศรีศากยมุนี
หมายฉบับที่ ๓ นี้ ควรจะอยู่ที่ ๒ แต่เหตุไฉนเขาจึงจดไว้เป็นที่ ๓ ก็ไม่ทราบ ครั้นจะคัดขึ้นไปไว้ที่ ๒ เกรงจะผิด เหตุด้วยหมายฉบับหลังไม่มีปีและศักราช จึงได้ลงเรียงไว้ตามลำดับเดิม แต่ไม่เห็นมีท่าทางที่จะผิดด้วยการที่หล่อแก้ซ่อมแปลง ได้ทำที่วัดสุทัศน์ มีเดือนปีปรากฏว่าเป็นเดือนยี่ปีมะโรงสัมฤทธิศก สมโภชพระเดือน ๕ ปีมะเส็งเอกศกไม่ได้ เพราะพระไม่ได้ไปถึงที่ดังนี้

๒๑๗. ณ ๒ ๑ ฯ ๕ ๖ ค่ำ ทรงยกเลื่อนชักตามทางสถลมารค พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระทุกหน้าวังหน้าบ้านร้านตลาดจนถึงที่

๒๑๗. การชักเลื่อนพระตามทางบกนั้น แพพระพุทธรูปได้มาเทียบที่ท่าช้าง แต่ที่ท่าช้างประตูเมืองไม่ตรงถนน ถึงว่าจะตรงถนน พระก็ใหญ่กว่าประตูเข้าไม่ได้ จึงต้องรื้อกำแพง เมื่อแห่พระมาถึงแล้วจึงก่อกำแพงขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนั้นในราชการจึงเรียกเป็นท่าพระมาทุกวันนี้

๒๑๘. ทรงพระประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุตสาหะเพิ่มพระบารมี หวังที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ ทำนุกบำรุงพระศาสนา เสด็จพระดำเนินตามกระบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่ จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้นเซพลาด

๒๑๘. เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทตามกระบวนนี้ ดูเป็นลักษณะอย่างเดียวกันกับแบกตัวลำยอง (กรมหลวงพระราชวังบวรทรงแบกตัวไม้ลำยองด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ท่าเจ้าสนุกจนถึงยอดเขาพระพุทธบาท) เห็นจะเสด็จพระราชดำเนินได้จริง เพราะการชักพระเช่นนี้คงจะเดินไปช้าๆ และไปติดไปขัด ต้องหยุดเอะอะกันบ่อยๆ เป็นเวลาได้ทรงพัก แต่คงจะทรงเหนื่อยมาก เพราะทรงพระประชวรอยู่แล้วจึงได้เซ

๒๑๙. เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรารับพระองค์ไว้

๒๑๙. กรมขุนกษัตราองค์นี้ คือเจ้าฟ้าเหม็น เดิมเป็นเจ้าฟ้าสุพันธุพงษ์ แล้วเปลี่ยนเป็นเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ได้เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต

๒๒๐. พระศรีศากยมุนี ๖ (ทำเนียบนามภาค ๑ หน้า ๓ เป็น พระศรีสากยมุนี (วิจิตร))มีลายจารึกไว้(ใน) แผ่นศิลาตั้งศักราชว่า ไปข้างหน้าลุงจะให้สัตย์ต่อหลาน ผู้น้อยจะเป็นผู้ใหญ่ ๆ จะได้เป็นผู้น้อย จารึกไว้แต่แรกสร้าง(มี)อยู่

๒๒๐. คำจารึกแผ่นศิลาที่พระศรีศากยมุนี ซึ่งผู้แต่งนำลงไว้ในที่นี้ เห็นจะเป็นด้วยเห็นจริงในใจว่า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์เป็นอาว์ ถวายสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้เป็นหลาน

๒๒๑. แล้วยกพระขึ้นที่ เสด็จกลับออกพระโอษฐ์ในที่สุดเพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สุดเท่านั้นแล้ว

๒๒๑. ซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึงยกพระขึ้นที่ในข้อนี้ เมื่อตรวจสอบสวนหลายแห่งเข้าใจได้ความว่า ท่านไม่ได้หวังจะกล่าวว่าพอแห่พระไปถึงแล้ว ก็เชิญขึ้นตั้งที่ทีเดียวเป็นอันได้ความ การเชิญพระขึ้นตั้งที่นั้นควรเป็นปีมะเส็งเอกศกต้นปี จวนสวรรคตอยู่แล้ว ถ้าลำดับการวัดสุทัศน์ และแห่พระศรีศากยมุนี ทั้งน้ำทั้งบกเห็นจะเป็นดังนี้

เดือน ๓ ปีเถาะนพศก จุลศักราช ๑๑๖๙ ขุดราก

เดือน ๕ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ พระศรีศากยมุนีลงมาถึงสมโภช

ดือน ๖ แห่ขึ้นทางบก ขึ้นไปวัดสุทัศน์ในเดือน ๖ นั้นเอง ก่อฤกษ์แต่ได้ความต่อไปว่า ได้ทรงปฏิสังขรณ์แก้ไขพระศรีศากยมุนี เททองใหม่ที่วัดสุทัศน์นั้นเอง แรกที่จะรู้เรื่องนี้ได้เห็นคำอาราธนาเทวดา สำหรับราชบัณฑิตอ่าน ซึ่งได้มาแต่หอสมุด มีเนื้อความขึ้นนโม ๓ จบ อิติปิโสจบแล้ว จึงอาราธนาออกชื่อว่า ข้าพระพุทธเจ้า พระยาธรรมปรีชา หลวงธรรมสุนทร หลวงเมธาธิบดี ขุนศรีวรโวหาร ราชบัณฑิตยาจารย์ทั้งปวง พร้อมกันทำอัชเฌสนกิจอาราธนาสัตยาธิษฐาน เฉพาะพระพักตร์ พระศรีรัตนตรัยเจ้า ด้วยสมเด็จพระบรมขัตติยาธิบดินทร์ปื่นประชามหาสมมติเทวราช พระบาทบพิตรพระเจ้าอยู่หัว (ต่อไปก็สรรเสริญพระบารมีและพระราชศรัทธาบำรุงพระพุทธศาสนาแผ่พระราชกุศล แล้วจึงดำเนินความต่อไปว่า) บัดนี้ทรงพระราชศรัทธากระทำการปฏิสังขรณ์ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่ตรำแดดตรำฝน ต้องเพลิงป่า หาผู้จะพิทักษ์รักษามิได้ อยู่ที่เมืองสุโขทัยนั้น

ทรงพระกรุณาเจดีย์ฐาน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่ไหว้ที่สักการบูชา ลักขณะอันใดมิได้ต้องด้วยพุทธลักขณะผิดจากบาลีและอรรถกถานั้น ทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นให้ต้องด้วยพระอรรถกถาและพระบาลี ตั้งพระทัยจะให้พระราชพิธี ปฏิสังขรณ์นี้สำเร็จโดยสิริสวัสดิ์ปราศจากพิบัติบกพร่อง การที่จะใส่ไฟสำรอกขี้ผึ้งเททองนั้นจะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ต้องด้วยพระราชประสงค์จงทุกประการ จึงมีพระราชบริหารดำรัสสั่ง ให้อาราธนาพระเถรานุเถระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายคามวาสี อรัญวาสี มีสมเด็จพระสังฆราชาธิบดีเป็นประธาน ให้มาประชุมกันเจริญพระปริตร ขอพระรัตนตรัยให้ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาข้าพระพุทธเจ้าราชบัณฑิตมาอาราธนาอันเชิญ เทพยเจ้าทุกสถาน สัคเค กาเม จรูเป ฯลฯ ลงท้ายเป็นคำสัตยาธิษฐาน ยัง กินจิ รัตนัง โลเก ฯลฯ แล้วก็จบ

เมื่อได้เห็นเช่นนี้ ถึงว่าจะเชื่อว่าเป็นประกาศรัชกาลที่ ๑ ก็ยังไม่สู้แน่ ภายหลังได้พบหมายเป็นข้อความต้องกัน จึงเอาเป็นแน่ได้ ในหมายฉบับนี้ว่า พระชำนิรจนารับสั่งใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ซึ่งสั่งไปแต่ก่อนว่าจะได้หล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ณ วัดเสาชิงช้า ณ วัน ๓ ฯ ๒ ๔ ปีมะเส งสัมฤทธิศก เพลาบ่ายสามโมงนั้นบัดนี้โหรมีชื่อ คำนวณพระฤกษ์ทูลเกล้าฯ ถวายเลื่อนเข้ามา พระสงฆ์ ๓๐ รูปจะได้เจริญพระพุทธมนต์ เพลาบ่ายวันขึ้น ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ ครั้น ณ วัน ๔ ฯ ๕ ๒ เพลาเช้า ๒ โมง บาท ๑ พระฤกษ์จะได้เททอง พระสงฆ์ที่สวดมนต์จะได้รับฉัน ให้นายด้านวัดปลูกโรงทึมสงฆ์ให้พอพระสงฆ์ ละสั่งอื่นๆ ต่อไปตามตำราหมาย

มีข้อยันกันว่า อนึ่งให้พระราชบัณฑิตแต่งคำอาราธนาเทวดา แล้วนุ่งผ้าขาวสวมเสื้อครุยไปอาราธนาเทวดา ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ เพลาบ่าย ๕ ค่ำ เช้าทั้ง ๔ วัน มีบูชาจุฬาฐทิศทั้ง ๔ วัน

มีเกณฑ์ดอกไม้แขวน แต่เรียกชอบกลว่า แล้วให้เย็บพวงมะโหด ร้อยพู่กลิ่นส่งให้สนมพลเรือน ออกไปแขวนบูชาวันละ ๑๐๐ พวงทั้ง ๔ วัน และมีกำหนดอีกหนึ่งว่าให้ล้อมวังเหลาไม้กลัดเข้าไปส่ง ณ ทิมดาบชาววัง จะได้ส่งให้ท่านข้างในเย็บพวงมะโหด ๕๐ กำๆ ละ ๓๐ อัน ให้ส่งทั้ง ๓ วัน

เมื่อมีการต้องหล่อแก้อยู่เช่นนี้ ก็ต้องกินเวลาไปอีกช้านาน เป็นเวลาที่ได้ก่อพื้นพระอุโบสถและฐานพระขึ้นไปถึงที่ทับ กันกับการตกแต่ง คงจะได้ไปแล้วเสร็จยกพระพุทธรูปขึ้น ในที่ปีมะเส็งเอกศกใกล้เวลาเสด็จสวรรคต ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในเวลาพระขึ้นตั้งที่ อันเป็นเป็นเวลาทรงพระประชวรมากอยู่แล้ว จึงรับสั่งว่า เพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้นแล้ว เหตุด้วยทรงเป็นห่วงกลัวจะสวรรคตเสียก่อนที่ได้เชิญพระขึ้นที่ การแต่งพระศรีศากยมุนี และการก่อฐานพระคงจะได้ทรงเร่งรัดอยู่มาก ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นเชิญพระขึ้นที่ทันสมพระราชประสงค์ ทรงพระโสมนัสจึงทรงเปล่งอุทานว่า “ สิ้นธุระแล้ว ”

กรมหลวงนรินทรเทวี นำมากล่าวในที่นี้ด้วยความยินดี ต่อพระราชศรัทธาพระราชอุตสาหะ ทั้งหวังจะสรรเสริญพระราชสติสัมปชัญญะ ซึ่งทรงกำหนดทราบกาลของพระองค์ ถ้าหากว่าไม่ทรงประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ และมิได้ผูกพันพระราชหฤทัย ในการที่จะได้ทอดพระเนตรเห็นพระศรีศากยมุนีขึ้นตั้งที่ไม่ทรงเร่งรัดให้การนั้นสำเร็จไปพร้อมกัน ช้าไปอีกไม่เท่าใดก็จะไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสร้างปราสาทราชมนเทียรพระราชวัง พระนครและพระอารามใหญ่ อย่างวัดพระเชตุพนเป็นต้น มิได้ทอดทิ้งให้การนั้นติดค้างอยู่เลย ย่อมทำให้แล้วสำเร็จทันทอดพระเนตรทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นไว้แต่วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งได้ลงมือเมื่อปลายแผ่นดินเสียแล้ว จึงไม่ทรงหวังพระราชหฤทัยว่าจะได้ทอดพระเนตรการพระอารามนั้นแล้วสำเร็จ ทรงกำหนดพระราชหฤทัยไว้แต่เพียงให้ได้เห็นพระศรีศากยมุนีขึ้นตั้งที่ก็เป็นอันพอพระราชประสงค์ ความที่ทรงมุ่งหมายนั้นได้สำเร็จดังพระราชประสงค์ คำซึ่งรับสั่งว่าสิ้นธุระนั้น กรมหลวงนรินทรเทวีจึงถือว่าเป็นคำปลงพระชนมายุ ณ เดือน ๗ เดือน ๘ ทรงพระประชวรหนักลง ณ วัน ๕ฯ ๑๓ ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๑ (พ.ศ. ๒๓๕๒) ปีมะเส็งเอกศก เวลา ๓ ยาม ๘ บาท เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๒๘ ปี
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น