วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เหล็กน้ำพี้

จากจุดกำเนิดเหล็กน้ำพี้ที่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณ จากหลักฐานพบว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า หมู่บ้านนำพี้มีช่างตีดาบอยู่ แต่มาถึงปัจจุบันนี้ อาชีพนี้และช่างตีดาบแทบจะสูญหายไปจากหมู่บ้านเกือบหมด มาถึงจุดนี้ วันนี้ ก่อนี่จะสายเกินไป ก่อนที่การตีเหล็ก ตีดาบอันเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนของหมู่บ้านน้ำพี้จะหยุดลงโดยสิ้นเชิง ควรที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ และเอกชนจะได้รีบเร่งเข้าดำเนินการสนับสนุนด้วยการเข้าช่วยเหลือ ฟื้นฟูอาชีพช่างตีเหล็ก เข้าช่วยฟื้นฟูการฝึกสอน การถ่ายทอดวิชาการตีเหล็ก เช่น อดีต ศราตราวุธ หรือเครื่องมือ เครื่องใช้สามารถัดแปลงให้เหมาะสม สวยงาม กะทัดรัดเหมาะแก่การสะสมเป็นวัตถุมงคล และของที่ระลึกเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ชุบชีวิตชีวาชาวบ้านน้ำพี้ให้เลื่องลือชาเช่นกาลก่อน สิ่งที่จะเป็นผลประโยชน์อันใหญ่หลวงต่อประเทศชาติก็คือ การสืบทอดมรดกประเพณีการตีดาบที่มีมาแต่โบราณให้สืบทอดต่อไป
•เชื่อว่าเป็นบ่อเหล็กศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าพ่อปกปักษ์รักษา

•เชื่อว่าเหล็กน้ำพี้เป็นของหายาก มีคุณค่ามาก

•เชื่อว่าถ้าใครมีเหล็กน้ำพี้ จะอยู่ยงคงกระพัน

•เชื่อว่าเหล็กน้ำพี้แก้อาถรรพ์ได้

•เชื่อว่าเป็นของสูง เป็นเหล็กที่ใช้ทำพระแสงของพระเจ้าแผ่นดิน

•เชื่อว่าเป็นอาวุธที่ซุกซ่อนในร่างกายแล้วศัตรูมองไม่เห็น

•เชื่อว่าป้องกันภูตผีปีศาจ และเวทย์มนต์คาถาได้

•เชื่อว่าดาบน้ำพี้ 1 เล่ม ขายได้ราคามากกว่าข้าวเปลือก 3 เกวียน ฯลฯ

ทำไมคนบ้านน้ำพี้ และคนไทยที่เชื่อเรื่องเหล็กน้ำพี้ แม่เพียงหยิบก้อนแร่ก้อนเล็กๆ ขึ้นมาจากพื้นดินเพียงก้อนเดียวก็ต้องยกมือไหว้ แล้วออกปากขอทั้งๆที่มองไม่เห็นว่าใครเป็นเจ้าของ เท่านี้คงยังไม่เพียงพอสำหรับการที่จะเชื่อ จึงขอนำตำนานประสบการณ์ อภินิหาร ความลี้ลับ มาลำดับโดยสรุปดังต่อไปนี้

พิธีกรรม ในสมัยก่อน การที่จะตีดาบดีๆ ขึ้นมาใช้สักเล่ม ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ เหมือนอย่างเช่นสมัยนี้ ที่พอไปเก็บเหล็กมาแล้วก็ลงมือตีกันได้เลย แต่ก่อนต้องมีพิธีกรรมหลายอย่าง หลายขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การไปนำแร่มาจากบ่อ การหาของผสมมาให้ครบ การก่อเตา ตีดาบ เรื่อยไปจนกระทั่งเสร็จเป็นดาบที่สมบูรณ์ ทั้งยังต้องมีการทดลองคุณภาพอีกครั้งจึงจะแล้วเสร็จและนำไปใช้ได้ พิธีกรรมเหล่านี้เริ่มต้นจาก เมื่อค้นพบแหล่งแร่เนื้อดีแล้ว ใช่ว่าจะไปขุดกันมาใช้ได้เลย ในขั้นแรกผี่จะไปขุดเอาแร่เหล็กจะต้องทำตนให้บริสุทธิ์เสียก่อน ซึ่งจะต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลอย่างน้อย 7-15 วัน ระหว่างนั้นจะต้องงดเว้นจากการเบียดเบียนไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ดื่มสุราเมรัย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเสพกาม ไม่พูดเพ้อเจ้อ หรือกล่าวคำเท็จ เป็นต้น สรุปคือจะต้องรักษาศีล 8 ให้สมบูรณ์อย่างเคร่งครัดนั่นเอง เมื่อครบกำหนดแล้วจะต้องดูฤกษ์ ดูยาม หาวันเวลาที่เหมาะสมเพื่อทำพิธีบวงสรวงเจ้าที่เจ้าทางี่ปกปักษ์รักษาบ่อแร่เหล็ก เป็นการบอกเล่าเก้าสิบกับให้รู้ หรือขออนุญาตเจ้าของเขาเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นผู้ที่ไปขุดอาจได้รับเภทภัยอย่างไม่คาดคิด จากนั้นก็ทำพิธีที่เรียกว่า “ล้อมแร่” อีกครั้งหนึ่ง เป็นการป้องกันแร่ธาตุหนี ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าไม่ล้อมแร่ไว้ก่อน ถึงจะขุดไปอย่างไรก็จะไม่พบแร่ธาตุเหล็กที่ต้องการ จะพบก็แต่แร่เหล็กที่ไม่มีคุณภาพ ที่อาจเรียกว่าขี้เหล็กก็ได้ และถ้านำมาหลอมมาตีเป็นดาบ ดาบนั้นจะเปราะ ไม่แข็งแรง แตกหักได้ง่าย การขุดตัดแร่เหล็กนี้นี้ไม่ต่างไปจากการตัดเหล็กไหลเท่าใดนัก เพราะเชื่อว่าอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเหล็กไหล ซึ่งจะต้องตั้งศาลบวงสรวงขออนุญาตจากเจ้าที่ที่ดูแลปกปักษ์รักษาเสียก่อน จึงจะทำการขุดหรือตัดได้ ข้อสำคัญประการหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้คือ จะต้องทำพิธีตัดกันในวันดับ ซึ่งถ้ากล่าวตามโหราศาสตร์ ก็คือวันแรม 15 ค่ำ เป็นวันที่ดวงจันทร์โคจรมา

อยู่ในราศีเดียวกับดวงอาทิตย์ ทำให้แสงแห่งดวงจันทร์ไม่ปรากฏ จึงเรียกวันนั้นเป็นวันดับ ซึ่งมีเฉพาะสันนี้วันเดียวที่เชื่อว่าจะได้เหล็กที่มีคุณภาพสูง

ธาตุอาถรรพ์-ของประสม เมื่อตัดแร่เหล็กน้ำพี้มาแล้ว ก่อนที่จะนำมาหลอมตีเป็นดาบได้ตามตำรากล่าวว่าจะต้องเสาะหาธาตุเหล็กที่มีพลังอานุภาพมาหลอมประสมลงไปด้วย หลายอย่างสำคัญๆ คือ เหล็กแกนจากยอดเจดีย์หัก , เหล็กตะปูตอกโลงศพจาก 7 ป่าช้า จะต้องเป็นตะปูที่ตอกโลงศพผีตายทั้งกลมเท่านั้น เป็นการเพิ่มความเข้มแข็งของพลังจิตวิญญาณให้แก่ดาบ ส่วนผสมนี้ มีกล่าวถึงในเสภาเรื่อง”ขุนช้างขุนแผน” ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 1 พ.ศ. 2513 หน้า 356-158

เตรียมการตีดาบ หลังจากที่ได้เหล็กน้ำพี้และธาตุอื่นๆ มาครบแล้ว ผู้ที่จะตีดาบน้ำพี้จะต้องทำพิธีบวงสรวงทวยเทพจนจิตวิญญาณที่รักษาธาตุเหล็กเหล่านั้นอยู่ แล้วจึงนำธาตุทั้งหมดมาหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน เตรียมนำไปตีเป็นดาบต่อไป ซึ่งต้องมีการเตรียมการอีกเช่นเดียวกัน จะตีดาบอย่างธรรมดาอื่นๆ ไม่ได้ โดยจะเริ่มต้นที่การก่อตาจะหลอมเหล็ก เพื่อให้เนื้อเหล็กอ่อนสามารถขึ้นรูปได้ตามประสงค์ เรื่องนี้ได้รับการบอกเล่าว่า ก่อนที่จะก่อเตาเพื่อตีดาบน้ำพี้ จะต้องทำพิธีบวงสรวงหรือบูชาครูตีดาบกันเสียก่อน แล้วจึงลงมือก่อเตาได้ และเตาที่ก่อนั้นจะต้องไม่อยู่ในที่ร่มหรือในโรงเรือน โรงตีเหล็ก ต้องก่อเตาในที่โล่งแจ้ง ไม่มีหลังคาปิดบังเป็นร่มเงากั้น

วันตีดาบ การจัดเตรียมอุปกรณ์ในการตีดาบ จะมีเตาเผา คีมคีบเหล็กด้ามยาว ค้อนตีเหล็ก หินขัด ถ่าน(ไม้สัก) เป็นต้น เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็ต้องดูฤกษ์เพื่อหาวันทำวิธีบูชาครูดาบ แล้วจึงลงมือตีได้ โดยปกติถ้าจำทำให้ถูกต้องตามตำราโบราณ จะต้องทำการตีเหล็กกันในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น ถ้าตีวันอื่นประสิทธิภาพของดาบด้านความขลังจะมีพลังน้อย สู้ตีคืนวันเพ็ญไม่ได้ และขณะที่ตีดาบ คนตีดาบต้องว่าคาถากำกับไปพร้อมกับการตีอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะตีดาบเสร็จ หากการตีดาบน้ำพี้ไม่แล้วเสร็จภายในคืนเดียว ก็จะต้องเลื่อนไปตีในคืนวันเพ็ญต่อไป ทำอย่างนี้จนกว่าจะแล้วเสร็จ

การประจุของขลัง เมื่อตีดาบเสร็จแล้วก็จะนำตัวดาบมาเข้าด้วย ซึ่งปกติทำด้วยไม้ที่เหนียวคงทน และมีน้ำหนักเบา ก่อนจะประกอบตัวดาบเข้าด้าม จะต้องทำการประจุเครื่องรางของขลังของครูบาอาจารย์ที่แข็งกล้าในวิชาอาคมเช่น ผ้าประเจียดพิสมร เครื่องรางชนิดหนึ่งรูปสามเหลี่ยม หรือเหลี่ยมร้อยสาย เป็นต้น นอกจากนี้จะต้องนำเส้นผมของผีตาย 7 ป่าช้า มาประจุรวมลงไปด้วย จึงเป็นการดีส่วนปลอกหรือฝักดาบก็จะถักหวายซึ่งจะทำให้สวยงามและคงทนขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้ถัก

ขั้นการทดลอง หลังจากได้ดาบที่สมบูรณ์แล้วอาจนำดาบนั้นไปให้ครูบาอาจารย์ที่แก่กล้าในเวทย์วิชาอาคมทำพิธีปลุกเสกประจุมนต์คาถาลงไปในดาบเป็นการเพิ่มอานุภาพให้แก่ดาบอีกชั้นหนึ่งด้วยก็ได้จากนั้นจึงนำดาบมาทดลองคุณภาพว่าจะดีจริงพอที่จะใช้เป็นอาวุธประจำตัวของตนได้หรือไม่

ในขั้นแรก จะชักดาบออกจากฝัก ยกขึ้นกวัดแกว่งในอากาศหากเกิดเสียงดัง”หวือๆ” จนผู้ถือดาบได้ยินอย่างถนัด ก็เป็นอันว่าดาบนั้นถูกต้องตามตำราเป็นดาบที่ใช้ได้

ขั้นสุดท้าย เป็นการทดลองด้วยการฟันไม้ไผ่ ซึ่งวิธีนี้ส่วนมากมักใช้ในการลองของต่อกันโดยจำนำไม้ไผ่ที่สอดไส้ด้วยเหล็กเส้นไว้ภายใน นำมาปักบนพื้นดิน ถ้าตวัดดาบครั้งเดียวทั้งไม้ไผ่และไส้เหล็กขาดกระเด็น ก็แสดงว่าดาบนั้นดีจริง ในการทดลองครั้งที่ 2 และ 3 นี้ หากฟันไปแล้วแม้หัวตะปูขาดหรือไม้ไผ่และเหล็กเส้นจะขาดก็ตาม แต่ถ้าเกิดมีเสียงดัง “แกร็ก” หรือตะปู หรือไม้ไผ่ล้มลง ดาบเล่มนั้นก็โยนทิ้งไป หรือไม่ก็ให้นักดาบมือใหม่นำไปใช้เป็นดาบฝึกต่อไป

ความเชื่อในเรื่องของการทดลองนี้ คาดว่าจะเป็นเรื่องของการแสดงเวทย์วิชาอาคม ให้ไปกระทำกับสิ่งต่างๆ ได้ดังประสงค์ โดยมีดาบเป็นเครื่องประกอบการกระทำ ซึ่งจะดูว่า ดาบมีอานุภาพมาก นอกจากนั้น ยังเป็นการแสดงอาการข่มกันของบรรดาครูดาบทั้งหลายเพื่อให้เกิดการนับถือ เลื่อมใสในฝีมือ อำนาจลึกลับ เชื่อกันว่าดาบน้ำพี้ที่ได้จัดทำขึ้นถูกต้องตามกระบวนความตามตำราแล้ว ทุกครั้งที่พกพาดาบนี้จะเป็นเสมือนเพื่อนตายจะคอยปกป้องและเตือนภัยแก่เจ้าของทุกครั้งเช่น เมื่อยามมีอันตรายหรือศัตรูเข้ามาใกล้ ดาบจะสั่นกิ๊กถีบตัวออกจากฝักทันที เป็นสัญญาณบอกให้รู้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันได้เสมอ เหล็กล้างอาถรรพณ์ เหล็กน้ำพี้เมื่อตีเป็นอาวุธหรือของใช้ต่างๆเนื้อเหล็กจะคมวาวจะมีสีคล้ายปีกแมลงทับ

มีความเหนียวและอ่อน สามารถงอได้ตามต้องการเพื่อที่จะซุกซ่อนไม่ให้ศัตรูมองเห็น และหากฟาดฟันไปต้องร่างผู้ใด แม้ผู้นั้นจะเป็นผู้มีวิชาอาคมสูงถึงขนาดอยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้า แต่หากโดนคมดาบน้ำพี้เข้าแล้ว ความเหนียวคงกระพันที่

เคยมีก็กลับต้องสูญสลายไปอย่างหมดสิ้นอานุภาพของาบน้ำพี้นี้กล่าวกันว่า ไม่เฉพาะล้างอาถรรพณ์กับผู้มีวิชาอาคมเท่านั้น แม้แต่วิญญาณหรือภูติผีปีศาจก็ยังเกรงกลัว อานุภาพจากก้อนแร่เหล็ก นางจำรัส เชื้อนพคุณ ชาวบ้านน้ำพี้เล่าว่า หลานชายรับราชการทหารอยู่ที่จังหวัดน่าน อันเป็นดินแดนที่เคยมีผู้ก่อการร้ายชุกชุมมาก วันหนึ่งขณะที่หลานของนางจำรัสออกลาดตระเวนกับเพื่อนหารด้วยกัน ได้เกิดปะทะกับผู้กอการร้าย ถูกถล่มด้วยปืนและระเบิดอย่างหนักจนเพื่อนทหารเสียชีวิตไปหลายคน แต่หลานของนางจำรัสรอดชีวิตมาได้อย่างอัศจรรย์ทั้งๆที่โดนกระสุนปืนและสะเก็ดระเบิดจนเสื้อผ้าฉีกขาด แต่เนื้อตัวกลับไม่มีบาดแผลอะไรเลย นางจำรัสเชื่อว่าที่หลานชายแคล้วคลาดปลอดภัยมานั้นเป็นเพราะอานุภาพของก้อนเหล็กน้ำพี้มอบให้และนำติดตัวไว้เป็นประจำเพียงอย่างเดียวนางจำรัสจึงเชื่อว่าแระเหล็กน้ำพี้มีความศักดิ์สิทธิ์จริงๆรวมทั้งชาวบ้านคนอื่นๆก็เชื่อกันอย่างนี้ทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่จะเดินทางไปไหนมาไหนไกลๆถ้าพกพาแร่เหล็กน้ำพี้ติดตัวไปด้วยเสมอจะแคล้วคลาดปลอดภัยทุกครั้ง

สับด้วยมีดปาดหมู พระอธิการเจียน ปุณณธัมโม เจ้าอาวาสวัดบ้านน้ำพี้เล่าว่าได้แจกวัตถุมงคลให้กับชาวบ้านไปมากมาย ล้วนทำด้วยแร่เหล็กน้ำพี้ วันหนึ่งโยมจากสุโขทัยมาขอวัตถุมงคลเพิ่มเติม และเล่าว่าเขาเป็นพ่อค้าขายหมูบังเอิญเกิดทะเลาะกับเพื่อนพ่อค้าหมูด้วยกันและโดนเพื่อนสับด้วยมีดปาดหมูแต่คมมีดที่คมกริบนั้นไม่ระคายผิวของเขาเลยคู่ทะเลาะวิวาทเห็นว่าเขาหนังเหนียวฟันไม่เข้าเลยตกใจวิ่งหนีไปเรื่องจึงสงบลง

ดาบขุนศึก นักรบไทยในอดีตที่ใช้ดาบซึ่งทำจากเหล็กน้ำพี้ มีข้อมูลทางประวัติศาสตรี่กล่าวอ้างถึงพระแสงของ้าวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงใช้ทำยุทธหัตถีรบกระทั่งมีชัยชนะเหนือพม่าข้าศึกนั้นเป็นพระแสงของ้าวที่ทำขึ้นมาจากเหล็กน้ำพี้ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 โคลงกระทู้ หัวล้านนอกครูว่า

“หัว กูมีแก้วเกิด อยู่ใน

ล้าน จึงเลี่ยนเตียนไป ดั่งนี้

นอก สุกแต่ในใส สุกปราบ

ครู ว่าชาติน้ำพี้ ของ้าวพระแสงทอง”

สมเด็จพระนารายมหาราช มี ดาบล้างอาถรรพณ์ซึ่งเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ขุนหลวงสรศักดิ์ นำมาปราบศัตรูนั้น กล่าวว่าเป็นดาบน้ำพี้เช่นกัน จากเรื่องขุนศึกมหาราชซึ่งคาดว่า ผู้แต่งมีข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ประกอบการเขียนอธิบาย

สมเด็จพระพันวษาหรือพระรามาธิบดีที่ 2 ในสมัยของพระองค์มีขุนศึกชาวเมืองสุพรรณบุรีชื่อ ขุนแผนใช้ดาบฟ้าฟื้นเป็นอาวุธและเมื่อรบทัพทัพจับศึกปราบศัตรูราบคาบแล้วขุนแผนได้ถวายดาบเล่มนั้นเป็นสมบัติของพระพันวษาดาบนี้กล่าวว่าตีจากเหล็กน้ำพี้และปัจจุบันยังเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

สมเด็จพระเจาตากสินมหาราช สมัยที่พระองค์ทำศึกสงครามมีทหารเอกคู่ใจอยู่หลายคนคนหนึ่งก็คือ พระยาพิชัยดาบหัก ขุนศึกกล้าชาวอุตรดิตถ์เชื่อกันว่า”ดาบนันทกาวุธ” ซึ่งอยู่ในมือซ้ายของท่านเป็นดาบที่ทำจากเหล็กน้ำพี้และเมื่อพระยาพิชัยมีดาบดีเป็นอาวุธจึงคาดว่าคงถวายดาบดีแด่พระมหากษัตริย์ที่ตนมีความเคารพ และจงรักภักดีไว้ใช้ด้วยดังนั้นจึงเชื่อว่าดาบที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้ก็ต้องเป็นดาบน้ำพี้เช่นกัน
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น