วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พื้นฐานสำคัญของการเรียนวิชาไสยศาสตร์และคาถาอาคม

อันดับแรก คือ ทำการฝึกสมาธิภาวนา หรือทำการฝึกสมาธิกรรมฐาน

หากทำการฝึกสมาธิภาวนา ก็ทำกันง่ายๆ คือ การภาวนาคาถาต่างๆแล้วกำหนดลมหายใจเข้าออกตามไปด้วย
เช่น ภาวนา “ พุท ” หายใจเข้า “ โธ ” หายใจออก พร้อมกับกำหนดจิตจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนา
เมื่อกำหนดจิตอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาแล้ว จิตจะเป็นสมาธิ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เริ่มต้นที่ 5 นาที
แล้วเพิ่มไปวันละ 1 นาทีก็ได้หรือหากทำการฝึกสมาธิกรรมฐาน ในการฝึกสมาธิกรรมฐานเราต้องรู้จักกรรมฐาน ๔๐ กองก่อน
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรู้หมดทั้ง ๔๐ กอง แต่จะเลือกฝึกแบบไหนก็ได้แล้วแต่ความถนัดและความชอบของแต่ละคน

กรรมฐาน ๔๐ แบ่งได้เป็น ๗ หมวด

๑. หมวดกสิน ๑๐
๒. หมวดอสุภกรรมฐาน ๑๐
๓. หมวดอนุสสติกรรมฐาน ๑๐
๔. หมวดอาหารปฏิกูลสัญญา ๑
๕. หมวดจตุธาตุววัฏฐาน ๑
๖. หมวดพรหมวิหาร ๔
๗. หมวดอรูปฌาณ ๔

หมวดกสิณ ๑๐ เป็นการทำสมาธิด้วยวิธีการเพ่ง
๑. ปฐวีกสิณ เพ่งธาตุดิน
๒. อาโปกสิณ เพ่งธาตุน้ำ
๓. เตโชกสิณ เพ่งไฟ
๔. วาโยกสิณ เพ่งลม
๕. นีลกสิณ เพ่งสีเขียว
๖. ปีตกสิน เพ่งสีเหลือง
๗. โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง
๘. โอฑาตกสิณ เพ่งสีขาว
๙. อาโลกกสิณ เพ่งแสงสว่าง
๑๐. อากาศกสิณ เพ่งอากาศ

หมวดอสุภกรรมฐาน ๑๐ เป็นการตั้งอารมณ์ไว้ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยงดงาม มีแต่สิ่งสกปรกโสโครก
น่าเกลียด
๑๑. อุทธุมาตกอสุภ คือ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป มีร่างกายบวมขึ้น
พองไปด้วยลม ขึ้นอืด
๑๒. วินีลกอสุภ วีนีลกะ แปลว่า สีเขียว เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว คละปนระคนกัน
คือ มีสีแดงในที่มีเนื้อมาก มีสีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก มีสีเขียวในที่มีผ้าคลุมไว้ฉะนั้นตามร่างกาย
ของผู้ตายจึงมีสีเขียวมาก
๑๓. วิปุพพกอสุภกรรมฐาน คือ ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ
๑๔. วิฉิททกอสุภ คือ ซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลางกาย
๑๕. วิกขายิตกอสุภ คือ ร่างกายของซากศพที่ถูกยื้อแย่งกัดกิน
๑๖. วิกขิตตกอสุภ คือ ซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่างๆกระจัดกระจาย มีมือ แขน ขา ศีรษะ
กระจัดพลัดพรากออกไปคนละทาง
๑๗. หตวิกขิตตกอสุภ คือ ซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่
๑๘. โลหิตกอสุภ คือ ซากศพที่มีเลือดไหลออกเป็นปกติ
๑๙. ปุฬุวกอสุภ คือ ซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่
๒๐. อัฏฐิกอสุภ คือ ซากศพที่มีแต่กระดูก

อนุสสติกรรมฐาน ๑๐ อนุสสติ แปลว่า ตามระลึกถึง เมื่อเลือกปฏิบัติให้พอเหมาะแก่จริตจะได้ผลเป็นสมาธิ
มีอารมณ์ตั้งมั่นได้รวดเร็ว
๒๑. พุทธานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
๒๒. ธัมมานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระธรรมเป็นอารมณ์
๒๓. สังฆานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์
๒๔. สีลานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณศีลเป็นอารมณ์
๒๕. จาคานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงผลของการบริจาคเป็นอารมณ์
๒๖. เทวตานุสสติเป็นกรรมฐาน ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์
๒๗. มรณานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์
๒๘. กายคตานุสสติกรรมฐาน เหมาะแก่ผู้ที่หนักไปในจาคะจริต
๒๙. อานาปานานุสสติกรรมฐาน เหมาะแก่ผู้ที่หนักไปในโมหะ และวิตกจริต
๓๐. อุปสมานุสสติกรรมฐาน ระลึกความสุขในพระนิพพานเป็นอารมณ์

หมวดอาหาเรปฏิกูลสัญญา
๓๑. อาหาเรปฏิกูลสัญญา เพ่งอาหารให้เห็นเป็นของน่าเกลียด บริโภคเพื่อบำรุงร่างกาย ไม่บริโภคเพื่อสนองกิเลส

หมวดจตุธาตุววัฏฐาน
๓๒. จตุธาตุววัฏฐาน ๔ พิจารณาร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

หมวดพรหมวิหาร ๔ พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นที่อยู่ของพรหม พรหม แปลว่า ประเสริฐ
พรหมวิหาร ๔ จึง แปลว่า คุณธรรม ๔ ประการ ที่ทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติเป็นผู้ประเสริฐ ได้แก่

๓๓. เมตตา คุมอารมณ์ไว้ตลอดวันให้มีความรัก อันเนื่องด้วยความปรารถนาดี ไม่มีอารมณ์เนื่องด้วยกามารมณ์
เมตตาสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นทุกข์
๓๔. กรุณา ความสงสารปรานี มีประสงค์จะสงเคราะห์แก่ทั้งคนและสัตว์
๓๕. มุทิตา มีจิตชื่นบาน พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ไม่มีจิตริษยาเจือปน
๓๖. อุเบกขา มีอารมณ์เป็นกลางวางเฉย

หมวดอรูปฌาณ ๔ เป็นการปล่อยอารมณ์ไม่ยึดถืออะไร มีผลทำให้จิตว่าง มีอารมณ์เป็นสุขประณีตในฌานที่ได้
จะผู้เจริญอรูปฌาณ ๔ ต้องเจริญฌานในกสินให้ได้ฌาณ ๔ เสียก่อน แล้วจึงเจริญอรูปฌาณจนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
๓๗. อากาสานัญจายตนะ ถืออากาศเป็นอารมณ์ จนวงอากาศเกิดเป็นนิมิตย่อใหญ่เล็กได้ ทรงจิตรักษาอากาศไว้
กำหนดใจว่าอากาศหาที่สุดมิได้จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
๓๘. วิญญาณัญจายตนะ กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้ ทิ้งอากาศและรูปทั้งหมด ต้องการจิตเท่านั้นจนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
๓๙. อากิญจัญญายตนะ กำหนดความไม่มีอะไรเลย อากาศไม่มี วิญญาณก็ไม่มี ถ้ามีอะไรสักหน่อยหนึ่งก็เป็นเหตุของภยันตราย
ไม่ยึดถืออะไรจนจิตตั้งเป็นอุเบกขารมณ์
๔๐. เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทำความรู้สึกตัวเสมอว่า ทั้งที่มีสัญญาอยู่ก็ทำเหมือนไม่มี ไม่รับอารมณ์ใดๆ จะหนาวร้อนก็รู้
แต่ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย ปล่อยตามเรื่อง เปลื้องความสนใจใดๆออกจนสิ้นจนจิตเป็นอุเบกขารมณ์



Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น