นักวิทยาศาสตร์เผยผลศึกษาสึนามิเคยถล่มไทย-อิเหนาเมื่อ 600 ปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์เผยผลศึกษาสึนามิเคยถล่มไทย-อิเหนาเมื่อ 600 ปีก่อน
เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์เผยผลการศึกษาเรื่องคลื่นยักษ์สึนามิ โดยระบุว่าเมื่อราว 600 ปีก่อน เคยเกิดคลื่นยักษ์ในมหาสมุทรอินเดียถล่มประเทศไทยและอินโดนีเซียมาแล้ว และรุนแรงพอๆ กับเหตุการณ์เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2004 ทั้งนี้เป็นการศึกษาโดยใช้หลักฐานตะกอนดินทรายที่ถูกคลื่นยักษ์พัดพาเข้ามาทับถมกันอยู่ในชั้นของถ่านหินตามชายฝั่งทะเล
คลื่นยักษ์สึนามิในปี 2004 เกิดขึ้นเนื่องจากมีแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 9.2 ริกเตอร์ ทำให้รอยเลื่อนซุนดราเคลื่อนตัวแยกออกจากกัน โดยรอยเลื่อนดังกล่าวนี้มีความยาวถึง 1,500 กิโลเมตรและเป็นแนวคดเคี้ยวขึ้นไปทางตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนในสิบกว่าประเทศเสียชีวิตไปถึง 220,000 คน
รายงานการศึกษาคราวนี้ ซึ่งตีพิมพ์ใน "เนเจอร์" วารสารทางวิทยาศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษ ระบุว่า ทีมนักวิจัยสองทีมได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ตามแนวชายฝั่งของอินโดนีเซียและไทย โดยค้นหาแผ่นตะกอนดินทรายที่ถูกคลื่นสึนามิในอดีตพัดพาเข้ามาบนแผ่นดินและตกตะกอนทับถมกันในสภาพเดิมโดยไม่ถูกทำลาย พวกเขาพบตัวอย่างแผ่นตะกอนดินทรายล้ำค่าดังกล่าว โดยขุดหาจากบริเวณหนองบึงต่างๆ และตามร่องระหว่างสันทรายซึ่งมีถ่านหินร่วนจำนวนมาก จากนั้นนำแผ่นตะกอนดินทรายมาคำนวณหาอายุจากคาร์บอนที่อยู่ในอินทรียวัตถุ
ทั้งนี้ พื้นที่สำรวจในอินโดนีเซียกินอาณาบริเวณราว 2 กิโลเมตรบริเวณตอนเหนือของเมืองมิวลาบอห์ ในจังหวัดอาเจะห์ ทางเหนือสุดของเกาะสุมาตรา ซึ่งในปี 2004 มีข้อมูลบันทึกว่าเกิดคลื่นยักษ์ความสูงถึง 35 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่สำรวจในไทยอยู่ที่เกาะพระทอง อยู่ห่างจากภูเก็ตไปทางเหนือราว 124 กิโลเมตร และเป็นจุดที่มีคลื่นยักษ์สูงถึง 20 เมตรในปี 2004
ทีมวิจัย พบว่า แผ่นตะกอนดินทรายที่สุมาตรามีอายุอยู่ในช่วง ค.ศ.1290-1400 ส่วนแผ่นตะกอนดินทรายในไทยมีอายุอยู่ในราว ค.ศ.1300-1450 ช่วงอายุที่ใกล้เคียงกันเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าตะกอนดินทรายทั้งสองบริเวณถูกพัดพาเข้ามาในแผ่นดินพร้อมกับคลื่นยักษ์สึนามิก่อนหน้าเหตุการณ์ในปี 2004
นอกจากนั้น ทีมนักวิจัยชาวอินโดนีเซียยังพบแผ่นตะกอนดินทรายที่มีอายุเก่ากว่านั้น คือ ช่วงราว ค.ศ.780-900 ทว่าพบหลักฐานลักษณะเดียวกันนี้ในไทยน้อยมากจนไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ ในขณะที่ทีมนักวิจัยของไทยกลับพบแผ่นตะกอนดินทรายที่มีอายุราว 2,200 ปี
สไตน์ บอนเดวิค นักธรณีวิทยาชาวนอร์เวย์ ให้ความเห็นว่า จำเป็นต้องมีการยืนยันข้อสรุปของงานศึกษาเหล่านี้ด้วย กล่าวคือ อาจต้องใช้เวลาถึง 600 ปีจึงจะเกิดการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนในระดับที่รุนแรงเท่ากับเหตุการณ์เมื่อปี 2004 อีกครั้ง
เขากล่าวอีกว่า หากมีข้อสรุปว่าเหตุการณ์มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากแล้ว ย่อมมีนัยอย่างสูงต่อการวางแผนพื้นที่เมืองและชายฝั่งด้วย เพราะ "ประชาชนในบริเวณดังกล่าวจะคำนึงถึงเรื่องผลประโยชน์ของการอาศัยอยู่ใกล้กับทะเลมากกว่าความเสี่ยงจากหายนภัยสึนามิซึ่งจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกไปหลายชั่วอายุคน อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องลงทุนหรือรักษาระบบเตือนภัยสึนามิไว้ ถ้าหากว่าอีกนานมากจึงเกิดเหตุซ้ำอีก"
ส่วนทีมนักวิจัยในอาเจะห์ซึ่งนำโดยแคตริน โมเนคเก แห่งมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก สหรัฐฯ บอกว่า หายนภัยที่เกิดขึ้นในอดีตอันไกลโพ้นมีแนวโน้มจะเลือนหายไปจากเรื่องเล่าของชาวบ้านที่บอกเล่าต่อๆ กันมา
แต่สำหรับผู้คนหลายพันคนที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ กับเกาะเซเมอูลูกลับรอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิในปี 2004 มาได้ เพราะก่อนหน้านี้คนท้องถิ่นรุ่นก่อนเคยเผชิญกับเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 1907 มาแล้ว พวกผู้ใหญ่ทั้งหลายจึงพากันสอนลูกหลานต่อๆ กันมาว่า ถ้าหากรู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไร ให้รีบหนีขึ้นไปยังที่สูงโดยเร็วที่สุด และปรากฏว่าคำสอนนี้ได้กลายเป็นระบบเตือนภัยสึนามิ "แบบธรรมชาติ" อย่างดีทีเดียว
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น