วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เรื่องเล่าขานตำนานเฮี้ยน ณ มหิดล ศาลายา

หลังจากกระแสการตอบรับเรื่องเล่าแนวสยองขวัญ ประจำรั้วมหา'ลัย ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี เหล่าทีมงาน“Life On Campus" จึงไม่รอช้า รีบเสาะหาเรื่องราวชวนหัวลุกจากปากคำของนักศึกษาศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน และบุคคลในพื้นที่จากรั้วมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ติดเขตปริมณฑลอย่าง "มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขต ศาลายา" ซึ่งขนานนามได้ว่า มีเรื่องราวอันน่าสะพรึงกลัวอยู่ไม่น้อย

ทั้งนี้ “ปาล์ม” ไตรรัตน์ อุทัยรังสี นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาเทคโนโลยีการบริหารสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ จะมาร่วมวงเล่าประสบการณ์ให้พวกเราได้ฟังกัน



ปาล์ม เริ่มต้นเล่าว่า สมัยก่อนเคยได้ฟังตำนานจาก คนเก่าคนแก่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ว่า พื้นที่ในเขต "ศาลายา" คือชื่อตำบลหนึ่งที่ตั้งอยู่ใน จ.นครปฐม และปัจจุบันที่ดินส่วนหนึ่งของ ต.ศาลายา ก็เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล ในอดีตศาลายานี้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งซ่องสุมโจรและเลื่องลือกันว่า "ผีดุ" มักปรากฏตัวให้ใครต่อใครเห็นอยู่เป็นประจำ

ชื่อ "ศาลายา" มีเล่าต่อกันมาหลายทาง สมัยก่อนศาลายาจะเป็นชื่อที่คู่มากับ "ศาลา ทำศพ" ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่า แต่ก่อนสถานที่ 2 แห่งนี้ น่าจะเคยมีเหตุการณ์ที่ทำให้คนเจ็บไข้ล้มตายกันมาก จึงมีการตั้งศาลาขึ้นจ่ายยาแก่คนเจ็บเหล่านั้น และเมื่อล้มตายก็จัดการเผาศพจึงมีชื่อทั้ง "ศาลายา" และ "ศาลาทำศพ" ต่อมาเห็นว่าชื่อ "ศาลาทำศพ" ไม่เป็นมงคลจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ศาลาธรรมสรพณ์" และยังใช้ในปัจจุบัน

ในอดีตคนเก่าแก่เล่าว่า "ศาลายา" เป็นที่เปลี่ยว ห่างไกลความเจริญมาก ยังไม่มีถนนหนทางตัดผ่าน ทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นเวลาป่วยไข้ไม่มีใครกล้าออกไปหาหมอ จึงมีผู้เมตตาสร้างศาลาให้หลังหนึ่ง และนำเอาสมุนไพรที่รักษาโรคได้มาแขวนไว้เป็นทาน ให้คนเอาไปใช้รักษา ใครต้องการยาอะไรก็จะไปเลือกหาเอาที่ศาลานั้น จึงเรียกที่แห่งนั้นว่า "ศาลายา" เรื่อยมา

ความเป็นมาของที่ดินบริเวณศาลายาแต่เดิมเป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และเป็นมรดกตกทอดมาถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต่อมาเจ้านายบางพระองค์ขายตกทอดไปเป็นของชาวบ้านบ้าง บางส่วนถูกเวนคืนไปเป็นพุทธมณฑลบ้างและบางส่วนก็เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

รวมถึงที่ดินที่เป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบันก็เป็นที่ดินพระราชมรดกจากรัชกาลที่ 4 ตกทอดมายังรัชกาลที่ 9มาในรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้มหาวิทยาลัยมหิดลซื้อที่ดินส่วนพระองค์ ในราคาถูกเป็นพิเศษจำนวน 1,250 ไร่ เพื่อสร้างเป็นมหาวิทยาลัย ทำให้ชาวบ้านที่เคยอาศัยทำกินอยู่ที่พื้นที่นั้นค่อยๆอพยพออกไปจนหมด
แต่สิ่งที่เหลืออยู่มากมายบนที่ดินนั้นก็คือศาลพระภูมิ และศาลเจ้าที่ ซึ่งถูกทิ้งให้หักพังโดยส่วนใหญ่ไม่มีใครเหลียวแลจะมีก็บางครอบครัว ที่นานๆจะกลับมาไหว้ศาลเก่าของตน เพราะยังผูกพันกับเจ้าที่เดิม

และตามความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่ มักให้ความเคารพต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่ ไม่ว่าจะปลูกบ้านหรือทำพิธีกรรมใดๆ โดยมากมักจะแผ่ส่วนกุศลอุทิศให้เจ้าที่เจ้าทางที่ตนมาอาศัยจึงอยู่กันอย่างสงบสุข ราบรื่น แต่ในบริเวณที่ดินของ ม.มหิดลศาลายา เมื่อเปลี่ยนจากที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมาสร้างเป็นสถานที่ราชการแล้วมักเกิดปัญหาที่น่าพิศวงตามมา

** จุดเริ่มต้น ปรากฏการณ์อาถรรพณ์ ณ ม.มหิดล ศาลายา


หลังจากมหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมพื้นที่และสร้างอาคารเสร็จพร้อมจะให้นักศึกษาเข้ามาอยู่ ปรากฏว่าในวันเปิดตึกหอพักนักศึกษา ...มีนักศึกษาชายคนหนึ่งป่วยกะทันหัน โดยไม่มีเค้าว่าจะเป็นคนสุขภาพไม่ดีมาก่อน และผลจากการป่วยคราวนี้ทำให้กลายเป็นคนพิการ ไม่สามารถเรียนต่อได้

ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ว่านับตั้งแต่สร้างมหาวิทยาลัย มามักมีคนตายบ่อยๆ เช่น มีอุบัติเหตุที่สี่แยกพุทธมณฑลทำให้นักศึกษาตายหลายศพ หรือมีการฆ่ากันตายที่ตึกคณะสิ่งแวดล้อม และนักศึกษาหลายคนก็มักจะเห็นคนเดินหายเข้าไปในต้นไม้ จากเหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องมีอัญเชิญ พระพุทธรูปองค์หนึ่ง มาตั้งไว้บริเวณหน้าหอพักนักศึกษาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวให้อบอุ่นใจเหตุการณ์ในทำนองนี้ยังเกิดต่อเนื่องเรื่อยมา

โดยครั้งหนึ่งที่คณะสังคมศาสตร์ได้จัดให้มีการทำบุญ ขณะมีงานอย่านั้นก็มีคนงานคนหนึ่งเกิดอาการคล้ายผีเข้าเมื่อทำการถามไถ่ได้ความว่า ผีที่เข้าเป็น "ผีแขก" นับถือศาสนาอิสลามที่ตายที่นี่และวิญญาณยังคงวนเวียนอยู่ ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิด ซึ่งเมื่อผีแขกตนนี้ ออกไปแล้ว ในแต่ละปีเมื่อทางคณะทำบุญครั้งใด ก็จะต้องอุทิศส่วนกุศลไปให้ทุกครั้ง




** เรือนไทย

เรื่องนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2529 ขณะที่ทำการสร้างเรือนไทย เพื่อให้เป็นศูนย์วิจัยวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ มีคนเคยเล่าว่า ระหว่างการสร้างเรือนไทยแห่งนี้ มักมีเหตุการณ์แปลกๆคือ ...อยู่ๆคนงานก็เกิดอุบัติเหตุ
ถูกฆ้อนตอกเสาเข็มทับบาดเจ็บสาหัส แล้วไปตายที่โรงพยาบาลศิริราช

ซึ่งเสาต้นที่เกิดเหตุน้อยคนนักที่จะรู้และจำได้ จนได้มีงานทำบุญขึ้นที่อาคารเรือนไทย ขณะที่กำลังทำพิธี พระ 9 รูปกำลังสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ โดยพระภิกษุรูปแรกกำลังจุดเทียนร่างคาถาทำน้ำมนต์อยู่ จู่ๆพระภิกษุรูปที่ 4 ก็เกิดอาการน้ำลายฟูมปาก และพ่นน้ำลายออกมา บรรดานักศึกษาและอาจารย์ต่างเห็นกันทั่วทุกคน เมื่อพระรูปที่ทำน้ำมนต์สวดเสร็จและหันมาเห็นเข้า ท่านก็ดูว่าทันที และซัดน้ำมนต์ลงไปที่ร่างพระรูปนั้น

ท่านว่า "ผีก็อยู่ส่วนผี วันนี้เป็นวันมงคล อย่ามาทำตัวให้เกิดความยุ่งยาก"
ผู้ที่อยู่และรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยมาตลอดถึงกับอึ้งและสงสัยว่า พระรูปนี้ ไม่เคยรู้เรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างเรือนไทยว่ามีคนตาย แต่ทำไมท่านชี้เสาต้นที่เกิดเหตุได้ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาหลายกลุ่มที่ต่างพากันจาจับจ้อง พื้นที่บริเวณเรือนไทย เพื่อติวหนังสือกันที่นี่ และบางกลุ่มก็ใช้เป็นที่พลอดรักกันอย่างน่าอิจฉา

จนกระทั่งมีนักศึกษาหญิงคนหนึ่ง เข้าไปอ่านหนังสือบริเวณเรือนไทย เวลาผ่านไปจนเริ่มเย็น ขณะนักศึกษาคนนั้นเก็บของเตรียมตัวกลับไปหอพักก็เหลือบไปเห็นเส้นสีดำๆคล้ายผมของใครบางคน ปลิวไสวอยู่ไม่ไกล เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆก็พบว่า

เส้นผมที่ว่านั่น...เป็นเส้นผมของผู้หญิงใส่ชุดไทยโบราณ และกำลังห้อยหัวลงมาจากเสาเรือน ปากยิ้มแสยะเห็นฟันดำขลับ

นักศึกษาคนนั้นกรีดร้องและเป็นลมทันที พี่ยามได้ยินเสียงจึงเข้าช่วยเหลือ-ทำการปฐมพยาบาล มีรุ่นพี่บางคนเล่า ต่อๆกันมาว่า เสาต้นหนึ่งในเรือนไทยตกน้ำมัน




** เจ้าที่..แรง!!

ยังมีอีกเหตุการณ์ที่เกิดกับบุคลากรระดับอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยมหิดลท่านหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในกลางดึก กำลังเดินกลับที่พัก ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย ขณะกำลังเดินอยู่ ท่านเห็นหญิงสาวคนหนึ่งเดินออกมาจากบริเวณมหาวิทยาลัยจะข้ามสะพานออกไปนอกถนนหน้ามหาวิทยาลัย

ท่านก็นึกว่าเป็นนักศึกษาเดินกลับกลางดึก ด้วยความเป็นห่วงจึงถามว่า

"ไปไหนมาจนดึก เดินไประวังรถจะเฉียวเอา"

เพราะถนนสายนี้ กลางคืนรถแล่นเร็วมาก แต่เธอผู้นั้นก็ไม่ตอบ กลับรีบเดินข้ามไปยังฝั่งตรงข้าม แล้วหายตัวเข้าไปในต้นไม้ข้างทางต่อหน้าต่อตาอาจารย์ท่านนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่จะเกิดเฉพาะกับอาจารย์ท่านนี้ เพราะยังมีนักศึกษาหลายคน รวมทั้งยามหน้าประตูมหาวิทยาลัยก็เคยเห็น โดยจะเห็นผู้หญิงเดินออกจากตัวตึกแล้วหายเข้าไปที่โคนต้นไทร และทุกคนเล่าตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อว่า รูปร่างหน้าตาและการแต่งตัวของผู้หญิงคนนั้นเป็นอย่างไร

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อาจารย์ท่านนี้ต้องนำเรื่องไปปรึกษาพระผู้ใหญ่ที่นับถือองค์หนึ่งที่วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งท่านก็สอนว่า

"เรื่องย้ายไปทำงานใหม่ที่ใดที่หนึ่งนั้น ประเพณีไทยเขาต้องเซ่นไหว้พระภูมิและเจ้าที่ เมื่อบอกกล่าวแล้วหากมีปัญหาอะไรท่านจะได้ช่วยเรา และควรทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ท่านเป็นครั้งคราวด้วย"

และท่านยังบอกว่า ที่ศาลายานี้จะมีจิตวิญญาณจริงหรือไม่ ตอนดึกๆท่านจะนั่งวิปัสนาดูให้ แต่ครั้งแรกท่านทำไม่สำเร็จ มาป่วยเสียก่อน ครั้งที่สองท่านพระยายามนั่งทางในอีก คราวนี้สำเร็จ

ท่านเล่าว่า เจ้าที่ที่ศาลายานี้แรงมาก ไม่ยอมให้ท่านเข้าไปในสถานที่ ต้องใช้พลังจิตต่อสู้กันจนทำให้ท่านต้องเข้าโรงพยาบาลเสียหลายอาทิตย์

ภายหลังทางม.มหิดลมาเชิญให้ไป โดยจะเอารถมารับ ท่านบอกว่า "ให้ไปเอาพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ไปติดตั้งให้เรียบร้อยก่อนท่านจึงจะไป” พระบรมรูปรัชกาลที่ 5 มาเกี่ยวข้องกับเรือนไทยที่ศาลายาอย่างไร ตอนนั้นยังไม่มีคำตอบ เพราะหลังจากนั้น พระผู้ใหญ่รูปนี้ก็ป่วยหนักและมรณภาพไป หลังจากท่านมรณภาพลงแล้ว ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่อง "ผี" ในศาลายาอีก

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นอีก โดยมีคนงานก่อสร้างตึกภายใน ม.มหิดล เกิดโรคไหลตาย และต่อมาก็เกิดฟ้าผ่าคนงานอีก จนทำให้สงสัยว่าทำไมต้องมีคนตายในทุกตึกที่มีการก่อสร้างในศาลายา จึงน่าจะมีอะไรสักอย่างดลบันดาลให้เกิดเหตุไม่ชอบมาพากลอย่างนี้ ก็บังเอิญว่ามีผู้ที่สามารถติดต่อกับจิตวิญญาณได้เป็นผู้หญิง ซึ่งเธอได้เข้าสมาธิเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ แล้วก็ได้คำตอบว่า
แต่เดิมสถานที่ที่ศาลายาบริเวณ ม.มหิดลนั้น มีผู้ตายทับถมกันมาก เป็นผีตายโหงที่อดอยาก หิวโหย คอยส่วนบุญจากผู้อยู่อาศัยบนพื้นที่นั้น คนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ก็ไม่เคยกรวดน้ำอุทิศให้แก่เจ้าที่ บนพื้นที่ศาลายานี้เลย

นอกจากเธอยังบอกว่า ศาลายานี้เจ้าที่แรงมาก จะเข้ามาตรวจสอบทางสมาธิได้ยาก ต้องทำตัวให้สะอาดจึงจะเข้ามาทำพิธีได้ สิ่งที่เธอเห็นจากการเข้าสมาธิครั้งแรกก็คือ

....ในชั้นที่ลึกที่สุดของที่ดินบริเวณนี้ เป็นกลุ่มคนหน้าตาเหมือนแขกมุสลิมที่ตายเพราะศึกสงครามทับถมกันอยู่ โดยวิญญาณเหล่านี้คือทหารที่รบราฆ่าฟันตายบนท้องทุ่งแห่งนี้ มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งมีทั้งแขกตามและขอม

ชั้นถัดมาเป็นศพที่ตายจากโรคห่าระบาด ในสมัย ร.3 ซึ่งมีทั้งผีผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผีทาสที่ข้อมือข้อเท้ายังติดตรวนอยู่ จากการติดต่อกับวิญญาณเหล่านี้จึงทราบว่า
ในอดีตเคยเกิดโรคระบาดที่นี่ ตายกันหมดทั้งหมู่บ้าน คนจะเข้ามาช่วยก็กลัวจะติดโรค จึงเอายามาแขวนไว้ ให้คนเจ็บมาหยิบใช้เอง โดยผูกยาเป็นห่อๆไว้เป็นทานที่ศาลา แต่ก็ช่วยไม่ทัน ตายกันหมดทั้งหมู่บ้าน

นอกจากนั้นก็ยังมีผีหน้าใหม่ซึ่งก็คือบรรดาศพที่ดองไว้ศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ และที่วิญญาณมาปรากฏให้เห็นก็หวังจะให้ช่วยแผ่ส่วนกุศลไปให้นั่นเอง หากต้องการแก้ไขก็ต้องตั้งศาลให้แก่เจ้าที่ รวมถึงสร้างศาลาหรือโบสถ์เล็กๆ เพื่อตั้งพระพุทธรูปและพระบรมรูป ร.5 พร้อมทั้งบูชาเจ้าที่ด้วยเครื่องเซ่นที่กำหนดมา หากต่อไปจะสร้างอาคารใด ให้บอกเจ้าที่ก่อนทุกครั้ง




สำหรับเจ้าที่ผู้เป็นใหญ่ ณ ศาลายา นามว่า "เจ้าขุนทุ่ง" หรือ "เจ้าจันทร์ทุ่ง" ลักษณะเป็นคนโบราณร่างสูงใหญ่ หวีผมเสกกลาง นุ่งโสร่งตาหมากรุก ไว้หนวดใส่เสื้อคอกลมหลังจากตั้งศาลแล้ว

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งทรงทราบเรื่องมาแต่ต้นทั้งหมดก็ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระพุทธรูปส่วนพระองค์ สมัยทวารวดีให้มาประดิษฐานในโบสถ์เล็กที่สร้างขึ้น และทาง ม.มหิดลยังได้อัญเชิญพระบรมรูป ร.4 ร.5 และสมเด็จพระบรมราชชนก มาตั้งในโบสถ์นี้ด้วย เพราะทั้งสามพระองค์มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ศาลายาแห่งนี้มาก่อน เมื่อดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อยก็ไม่มีใครพบเห็นหญิงสาวมาปรากฏตัวให้เห็นอีกเลย และที่น่าแปลกก็คือ ต่อมาได้มีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านหนึ่ง มาประชุมที่เรือนไทยแห่งนี้ โดยเพิ่งมาเป็นครั้งแรก อาจารย์ท่านนี้สามารถรับกระแสจิตได้ และท่านคงมองเห็นอะไรบางอย่าง อยู่ๆท่านก็พูดขึ้นว่า

"เรือนนี้มีจิตสถิตอยู่ แต่เขาอยู่สบาย ไม่กวนใคร"

และท่านยังว่าท่านเห็นชายสูงอายุคนหนึ่งยืนอยู่เฉยๆ ท่าทางสบายอารมณ์ นุ่งผ้าตาหมากรุก ไว้หนวด ผิวคล้ำ ซึ่งเป็นรูปร่างของ "เจ้าขุนทุ่ง" ผู้เป็นใหญ่แห่ง "ภูมิวิญญาณ" ในพื้นที่ศาลายาจึงเป็นเรื่องแปลก ทำไมบางคนที่ไม่เคยรู้เรื่องในศาลายาเลย อย่างอาจารย์ท่านนี้จึงสามารถบอกเรื่องราวได้ถูกต้อง”

เพื่อความชัดเจน Life On Campusได้สอบถามไปยังผู้รู้ถึงต้นตอของความเชื่อที่สืบทอดกันมา กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่กับวิทยาเขตมาเนิ่นนานเช่นกัน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ว่าก็คือ “ศาลพ่อปู่จันทร์ทุ่ง” ซึ่งเป็นศาลเก่าแก่ประจำวิทยาเขตศาลายาโดยผู้ที่สามารถให้คำตอบได้มากที่สุดเกี่ยวกับที่มาของการแก้บนในลักษณะดังกล่าวที่ว่านี้ คือ "ดร.สุกรี เจริญสุข” ผู้อำนวยการ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.สุกรีเล่าว่า ศาลนี้ก่อตั้งเมื่อ ปี 2538 แต่ก่อนหน้านั้น มหาวิทยาลัยเรามาตั้งที่ศาลายา ในปี 2500 ในด้านทิศตะวันตก ทางทิศเหนือก็มีอาคารอยู่ 1 หลัง ชื่ออาคารอาจารย์ใหญ่ ในเวลาที่โรงพยาบาลมีคนบริจาคศพ ทางโรงพยาบาลก็จะนำมาให้แพทย์ไว้เรียนรู้ที่ อาคารอาจารย์ใหญ่ในส่วนของ ม. มหิดล ฉะนั้นตั้งแต่ ร.1 – ร.4 จนถึงปัจจุบันที่มีตึกมากมาย แต่พื้นที่สมันก่อนมีคนตายทับถมกันเนี่ย ในความเชื่อ หากจะถามว่าศพและวิญญาณเหล่านี้มีที่มาที่ไปไหม ตอบมีแต่ที่มา ไม่มีที่ไป ผมเองก็ไม่มีที่มาเรื่องผีสางนางไม้ พิธีกรรมประเพณีต่างๆ ก็ไม่รู้

ความเชื่อใดๆ ก็ตามอาจจะเป็นความเชื่อที่งมงาย แต่ ร. 5 พระองค์ทรงตรัสไว้ว่าเรื่องงมงาย ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ แต่ทำดีกว่าไม่ทำ เชื่อดีกว่าไม่เชื่อ ผมเป็นนักเรียนนอกเรื่องพรรค์นี้จึงไม่มีในหัว แต่คิดว่าเชื่อดีกว่าไม่เชื่อ

อย่างตอนที่กำลังเริ่มจะสร้างตึก จู่ๆ นศ.ปริญญาโทก็ถูกผีเข้า มีเพียงผมที่รู้ว่านศ.ถูกผีเข้า เราไม่สามารถบอกใครได้กลัวหาว่าเราบ้า

...นศ.ที่ถูกผีเข้าเอะอะโวยวาย บอกผมว่าสร้างตึกไม่ได้หรอก เขามายืนชี้ให้ผมดูว่าตรงนี้มีคนตายเยอะ ผมจึงถามว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างได้ แต่เขายังไม่ทันพูดอะไรต่อ จู่ๆก็ออกไป”

ดร.สุกรีเล่าต่อว่าหลังจากนั้นอีกอีกสองเดือน สิ่งที่อาจารย์เรียกว่าผีก็เข้านศ.หญิงปริญญาโทคนเดิมอีก แต่คราวนี้มีคนอยู่กันหลายคน

“ครั้งนี้ผมมีโอกาสถามว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างตึกได้ ขอให้บอกมา จากนั้นจึงมีผู้รู้ซึ่งเป็นร่างทรงมาก็คุยกันว่าจะตั้งศาล และร่างทรง ก็ชี้ไปยังจุดใต้ต้นไทรว่าให้ตั้งศาลตรงนี้ นั่นก็คือที่ตั้งศาลพ่อปู่จันทร์ทุ่ง ณ ปัจจุบัน และร่างทรงบอกว่าเจ้าที่ ณ ศาลตรงนี้ จะรับแต่ ผลไม้ ปากริมไข่เต่า ชอบเล่นว่าว ชอบเลี้ยงควาย หลังจากนั้นก็ทำพิธีให้ทุกปี แต่บางทีผมก็ได้ยินว่า นศ.บางรุ่นเขาจะเห็นผู้ชายใส่โจงกระเบนสีม่วงบริเวณนั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องเล่าต่อกันมา”

อาจารย์ทิ้งท้ายถึงความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ ของศาลพ่อปู่จันทร์ทุ่งว่า ศรัทธาอะไรก็ศรัทธาไปเถอะ หากทำให้จิตใจดี และสามารถทำให้เราดำรงอยู่ในความดีได้ มันก็มีประโยชน์ดีจริงทั้งนั้น “ศาลพ่อปู่จันทร์ทุ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนมหาวิทยาลัยนี้ มันเป็นเรื่องที่ดี ทำให้จิตใจมีอะไรที่ผูกพันกับสถานที่ที่เขาศรัทธา ผมคิดว่านับเป็นสิ่งดีที่ทำให้เขามีกำลังใจในการดำเนินชีวิต”...
มาต่อกันด้วย เรื่องเ ฮี้ ย นๆ....ที่เกิดขึ้น ณ ม.มหิดล ศาลายาที่ต่างเล่าขานกันว่า น่ากลัวจริงๆ

** เพลงรักน้อง "เจ้านกน้อย ล่องลอยโผบิน จากแผ่นดินทะเลสีคราม..." นั่นคือเนื้อเพลงรักน้อง หรือเจ้านกน้อยอย่างที่ใครหลายๆคนพูดจนชินปาก เพลงอาถรรพ์ของชาวศาลายามีเรื่องเล่ากันว่า
มีนักศึกษาพยาบาลคนหนึ่ง ถูกพ่อแม่บังคับให้เรียนในสายที่ไม่เต็มใจ ด้วยความเสียใจ คิดว่าไม่มีใครเข้าใจอีกแล้ว นักศึกษาพยาบาลคนนั้นจึงปีนขึ้นไปบนดาดฟ้าของหอพัก และเขียนข้อความสั้นๆนี้ไว้ จึงทิ้งร่างลงมาสู่พื้นด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ

เพลงรักน้อง จึงเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกความระลึกถึงนักศึกษาพยาบาลคนนั้น ชาวศาลายาจะถือกันว่า เพลงนี้ห้ามร้องในเวลากลางคืน และถ้าใครคนใดคนหนึ่งร้องขึ้นมาแล้ว ต้องร้องต่อจนจบเพลง มิฉะนั้นจะเท่ากับเป็นการเรียกนักศึกษาพยาบาลคนนั้นจากพื้นดินมาสู่เจ้าของเสียง ในบางครั้งก็ปรากฏตัวให้นักศึกษารุ่นน้องที่เข้าใหม่เห็นในลักษณะกระโดดลงจากดาดฟ้าหอพัก เมื่อนักศึกษาคนนั้นตั้งสติได้และเรียกให้คนมาช่วย พอไปถึงจุดเกิดเหตุกลับปรากฏว่า ไม่มีร่องรอยใดๆอยู่เลย

** 3.SI วันมหิดล เตียงC อีกหนึ่งความเชื่อเกี่ยวกับวันสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกล่าวถึงนักศึกษาคณะแพทย์ศิริราช เรียกสั้นๆว่าSIที่จะกลับมา เยี่ยมเยียนหอพักในวันนี้ของทุกๆปี แต่งกายด้วยชุดนักศึกษา เสื้อนั้นย้อมด้วยเลือด และร่างเต็มไปด้วยบาดแผล

“เรื่องนี้จัดเป็นอันดับต้นๆของความเ ฮี้ ยนสุดยอดในวิทยาเขตศาลายาเลยก็ว่าได้...

มีนักศึกษาแพทย์คนนี้ประสบอุบัติเหตุรถชนขณะข้ามถนนมายังมหาวิทยาลัย อาจเป็นเพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เขาจึงไม่รู้ตัวว่าได้เสียชีวิตไปเรียบร้อยแล้ว ห้องพักดังกล่าวที่นักศึกษาแพทย์คนนี้อาศัยอยู่กลายเป็นเรื่องถูกปิดตาย ทราบแต่เพียงว่า เตียงCของนักศึกษาSIในคืนวันมหิดลเท่านั้นที่จะพบเห็นเค้าได้

** เชือกในห้องน้ำ เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ไม่นานประมาณปีกว่าๆ มีข่าวแพร่สะพัดตามหอพักว่า ช่วงปิดเทอมเดือนตุลาแม่บ้านคนหนึ่งได้ผูกคอตายในห้องน้ำชาย ห้องดังกล่าวได้ถูกปิดตายไปพักใหญ่ เจ้าหน้าที่หอพักแก้ต่างเป็นพัลวันว่า

"ห้อง น้ำเสีย"

นักศึกษาชายที่อยู่ตรงข้ามกับห้องน้ำนั้น มักได้ยินเสียงร้องไห้ระงมจากประตูเจ้ากรรมเสมอๆ เมื่อมองผ่านจากหอตรงข้าม มีคนสังเกตว่าบริเวณขื่อมีเชือกผูกอยู่จริง แม่บ้านที่ทำความสะอาดประจำชั้นนั้นก็หายหน้าหายตาไป เจ้าหน้าที่หอก็ชี้แจงต่อข่าวลือน้ำขุ่นๆว่า

"เค้ากลับต่างจังหวัด"

ในปัจจุบันห้องน้ำดังกล่าวได้เปิดใช้งานตามปกติแล้ว ....ถ้าเข้าไปแล้วเห็นแม่บ้านผิวดำผมหยักศกยิ้มให้ ก็อย่าลืมยิ้มตอบด้วย เพราะคุณคือผู้โชคดีแล้ว

** หอชาย ในสมัยก่อนหอชายของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นหอหญิงมาก่อน บางคนอยู่มาเป็นปีๆไม่เคยจะรู้ ไม่เคยจะใส่ใจกับความเป็นมาตรงนี้ หอชายในปัจจุบันนั้นมีสภาพค่อนข้างใหม่กว่าหอหญิง (ยกเว้นแต่หอ10) ก็มีเรื่องเล่ากันว่า

มีนักศึกษาหญิงคน หนึ่งได้ฆ่าตัวตายภายในหอพัก วิญญาณก็ยังวนเวียนไม่ไปไหน คอยปรากฏตัวให้นักศึกษารุ่นหลังได้พบเจอ และในแต่ละปีจะมีนักศึกษาชายจำนวนมากที่โวยวายกับเจ้าหน้าที่หอพักเรื่อง ผู้หญิงชุดขาวที่เดินไปมาในบริเวณหอพัก

ส่วนสถานที่หลักๆที่จะพบได้ก็คือบันไดหนีไฟ ที่หลายคนชอบเดินทางนี้บ่อยๆ หรือไม่ก็เป็นทางเชื่อมระหว่างหอ เมื่อมองจากระเบียง หรือด้านล่างของหอ นี่คือสามแพร่งที่ทุกคนต้องผ่านเข้าออกในแต่ละวัน

ปิดท้ายด้วยเรื่องเล่าที่หลายคนรู้เป็นอย่างดี กับ ** คอนโดC ห้องxxxx เมื่อคอนโดบริเวณประตูสาม จะถูกจองตั้งแต่เดือนเมษา แต่จะมีอยู่ห้องหนึ่งในคอนโดC ซึ่งปิดขอบประตู โดยรอบด้วยยันต์ และประไว้ที่หน้าประตูอีกหนึ่งแผ่น ลองนึกภาพดูว่าบรรยากาศของห้องจะหม่นๆ เหมือนมีสายตาเฝ้ามองอยู่ตลอด ใครที่เคยอาศัยอยู่ย่อมรู้ถึงความกดดันได้เป็นอย่างดี

ประวัติของห้องนี้ก็มีอยู่ว่า ช่วงปิดเทอมเมื่อ4-5ปีก่อนมีเด็กอินเตอร์คนหนึ่งกรอกยาฆ่าตัวตาย กว่าเพื่อนจะไปพบ ศพมันก็อืด เน่าเฟะ เละจนแทบจำไม่ได้ เด็กคนนี้เป็นผู้หญิงอยู่ปี 2 น้อยใจแฟนก็เลยประชดด้วยการลาโลก พองานศพเสร็จ เพื่อนๆทำใจไม่ได้ก็เลยขอย้ายไปพักที่อื่น คนที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ๆไม่รู้เรื่องรู้ราว ตกกลางคืนมักได้ยินเสียงเปิดก็อกในห้องน้ำ บางครั้งก็ได้ยินเสียงกุกกักทั้งๆที่ไม่มีใคร

แต่นั่น...ไม่ร้ายแรงเท่านักศึกษาบางคนที่กำลังนอนหลับ เหลือบไปเห็นผู้หญิงหน้าตาบวมปูดเหมือนศพ จับขาและกระชากลงจากเตียง.....
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น