วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เทพีอาเธน่า


ใน คณะเทพโอลิมเปียนมีเทวีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ ทรงนามตามลำดับว่า เฮสเทีย (Hestia) เอเธน่า (Athene) อาร์เตมิส (Artemis) องค์แรกเป็นเทวีภคินีของเทพปริณายกซูส ส่วน 2 องค์หลังเป็นธิดา แต่ละองค์มีประวัติและความสำคัญดังจะกล่าวต่อไปนี้

อันเทวดาของกรีกนั้นถึงแม้ไม่ตายก็หาความรู้สึกเจ็บปวดในกายองค์ไม่ การถือกำเนิดของเอเธน่านั้น กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่ง ซูส เทพบดีได้รับคำทำนายว่า โอรสธิดาที่ประสูติแต่มเหสีเจ้าปัญญานาม มีทิส (Metis) นั้นจะ มาโค่นบัลลังก์ ของพระองค์ ไท้เธอก็แก้ปัญหาด้วยการจับเอามีทิสซึ่งทรงตั้งครรภ์แก่นั้นกลืนเข้าไปในท้อง แต่เวลาไม่ นานนัก เทพปริณายกซูสบังเกิดอาการปวดเศียรขึ้นมา ให้รู้สีกปวดร้าวเป็นกำลัง ไท้เธอจึงมีเทวโองการสั่งให้เรียก ประชุมเทพ ทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ให้ช่วยกันหาทางบำบัดเยียวยา แต่... ความอุสาหพยายามของทวยเทพก็ไม่เผล็ดผล ซูส ไม่อาจทนความ เจ็บปวดต่อไปได้ ในที่สุดจึงมีเทวบัญชาสั่งโอรสองค์หนึ่งของไท้เธอ คือ ฮีฟีสทัส (Hephaestus) หรือ วัลแคน (Vulcan) ให้ใช้ขวานแล่งเศียรของไท้เธอออก เทพฮีฟีสทัสปฏิบัติตาม เอาขวานจามลงไป ยังไม่ทัน เศียรซูสจะแยกดี เทวีเอเธน่าก็ผุด ขึ้นมาจากเศียรเทพบิดา ในลักษณะเจริญวัยเต็มที่แต่งฉลององค์หุ้มเกราะแวววาว พร้อมสรรพ ถือหอกเป็นอาวุธ และประกาศ ชัยชนะเป็นลำนำกัมปนาทเป็นที่พิศวงหวั่นหวาดแก่ทวยเทพเป็นที่สุด พร้อมกันนั้นทั่วพื้นพสุธาและมหาสมุทร ก็บังเกิด อาการสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นอย่างใหญ่ ประกาศกำเนิดเทวีองค์นี้สนั่นไป ทั้งโลก

การอุบัติของเทวีองค์นี้ถือว่าเป็นไปเพื่อยังสันติสุขให้บังเกิดในโลกและขจัดความโฉดเขลาที่ครอง โลกจนตราบ เท่าบัดนั้นให้สิ้นไป ด้วยว่าพอเจ้าแม่ผุดจากเศียรซูส เทวีแห่งความโฉดเขลาซึ่งไม่ปรากฏรูป ก็ล่าหนีให้เจ้าแม่เข้า ครองแทนที่ ด้วยเหตุนี้เทวีเอเธน่าจึงเป็นที่นับถือบูชาในฐานะเทวีครองปัญญา นอกจากนั้น เจ้าแม่ยังมีฝีมือในการ เย็บปักถักร้อย และการยุทธศิลปป้องกันบ้านเมือง

ภายหลังการอุบัติของเจ้าแม่เอเธน่าไม่นาน มีหัวหน้าชนชาวฟีนิเชียคนหนึ่งชื่อว่า ซีครอบส์ (Cecrop) พาบริษัทบริวาร อพยพเข้าไปในประเทศกรีซเลือก ได้ชัยภูมิอันตระการตาแห่งหนึ่งในแคว้น อัตติกะ (Attica) ตั้งภูมิลำเนาก่อสร้างบ้านเรือน ขึ้นเป็นนครอันสวยงามนครหนึ่ง เทพทั้งปวงเฝ้าดูงานสร้างเมืองนี้ด้วยความ เลื่อมใสยิ่ง ในที่สุดเมื่อเห็นว่าเมืองมีเค้าจะกลาย เป็นนครอันน่าอยู่ขึ้นมาแล้ว เทพแต่ละองค์ต่างก็แสดงความปรารถนาใคร่จะได้เอกสิทธิ์ประสาทชื่อนคร จึงประชุมกันถกถึงเรื่องนี้ เมื่อมีการอภิปรายโต้แย้งกันพอสมควรแล้ว เทพส่วนใหญ่ในที่ประชุมก็พากันยอมสละสิทธิ์ คงเหลือแต่เทพโปเซดอนและเทวีเอเธน่า 2 องค์เท่านั้นยังแก่งแย่งกันอยู่

เพื่อยุติปัญหาว่าใครควรจะได้เอกสิทธิ์ประสาทชื่อนคร เทพปริณายกซูสไม่พึงประสงค์จะชี้ขาดโดยอำนาจตุลาการที่ไท้เธอ จะพึงใช้ได้ด้วยเกรงว่าจะเป็นที่ครหาว่าเข้า ข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไท้เธอจึงมีเทวโองการว่านครนั้นพึงอยู่ในความคุ้มครองของเทพ หรือเทวี ซึ่งสามารถเนรมิตของที่มีประโยชน์ที่สุดให้มนุษย์ใช้ได้ และมอบหน้าที่ตัดสิน ชี้ขาดให้แก่ที่ประชุม

เทพโปเซดอนเป็นฝ่ายเนรมิตก่อน เธอยกตรีศูลคู่หัตถ์ขึ้นกระแทกลงกับพื้น บันดาลให้มีม้าลำยองตัวหนึ่งผุดขึ้นท่าม กลางเสียงแสดงความพิศวงและชื่นชมของ เหล่าเทพ เมื่อเทพผู้เนรมิตม้าอธิบายคุณประโยชน์ของม้าให้เป็นที่ตระหนักแก่เทพ ทั้งปวงแล้ว เทพต่างองค์ต่างก็คิดเห็นว่า เทวีเอเธน่าคงไม่สามารถเอาชนะเนปจูนเสีย เป็นแน่แล้ว ถึงกับพากันแย้มศรวลด้วย เสียงอันดังแกมเย้ยหยันเอาเสียด้วย เมื่อเจ้าแม่เอเธน่าเนรมิตต้นมะกอกต้นหนึ่งขึ้นมา แต่ครั้นเจ้าแม่อธิบายถึงคุณประโยชน์ ของต้นมะกอก ที่มนุษย์จะเอาไปใช้ได้นานัปการนับตั้งแต่ใช้เนื้อไม้ ผล กิ่งก้าน ไปจนใบ กับซ้ำว่ามะกอกยังเป็น เครื่องหมายถึงสันติภาพและความรุ่งเรืองวัฒนาอีกด้วย และเพราะฉะนั้นจึงเป็นที่พึงประสงค์ยิ่งกว่าม้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายของ สงครามดังนี้ มวลเทพก็เห็นพ้องต้องกันว่า ของที่เจ้าแม่เอเธน่าเนรมิตมีประโยชน์กว่า จึงลงมติตัดสิน ชี้ขาดให้เจ้าแม่เป็นฝ่าย ชนะ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงชัยชนะครังนี้ เจ้าแม่เอเธน่าได้ประสาทชื่อนครนั้น ตามนามของเจ้าแม่เองว่า เอเธนส์ ( Athens ) และสืบจากนั้นมาชาวกรุงเอเธนส์ก็ นับถือบูชาเจ้าแม่ในฐานะเทวีผู้ปกครองนครของเขาอย่างแน่นแฟ้น
นอกจากชื่อเอเธน่าหรือมิเนอร์วาแล้ว ชาวกรีกและโรมันยังรู้จักเจ้าแม่ในชื่ออื่น ๆ อีกหลาย ชื่อ ในจำนวนนี้มี ชื่อที่แพร่หลายกว่าเพื่อนได้แก่ พัลลัส (Pallas) จนบางทีเขาเรียกควบกับชื่อ เดิมว่า พัลลัสเอเธน่า ก็มี ว่ากันว่า มูลเหตุของชื่อนี้สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมตอนเจ้าแม่ปราบยักษ์ชื่อ พัลลัส ซึ่งไม่ปรากฏตำนานชัดแจ้ง อาศัยเหตุที่ เจ้าแม่ถลกหนังยักษ์มาคลุมองค์ คนทั้งหลายเลยพลอย เรียกเจ้าแม่ในชื่อของยักษ์นั้นด้วย และเรียกรูปประติมา หรือ อนุสาวรีย์อันเป็นเครื่องหมายถึงเจ้าแม่ ว่า พัลเลเดียม (Palladium) ในที่สุดคำว่า Palladium ก็มีที่ใช้ใน ภาษาอังกฤษถึงภาวะหรือ ปัจจัยที่อำนวยความคุ้มครองหรือความปลอดภัยให้เกิดแก่ชุมชน ทำนอง Palladium ที่ชาวโรมัน อารักขาไว้ในวิหารเวสตาฉะนั้น
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น