วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร


ประวัติพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร" ตั้งอยู่ที่ 34 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ มีพระปรางค์เป็นสัญลักษณ์โดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะสมเป็นวัดประจำรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงได้รับการยกย่องจากองค์กรศึกษาวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้ทรงเป็นบุคคลผู้สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมของโลก

พระปรางค์ ที่สูงสง่าเป็นหน้าเป็นตาของกรุงเทพฯ องค์นี้ เดิมสูงเพียง 8 วา หรือประมาณ 16 เมตรเท่านั้น แต่พระปรางค์ที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ได้มีการต่อเติมขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 3 เมื่อคราวที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พระปรางค์องค์ที่บูรณะใหม่นี้มีขนาดความสูงถึง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ กับอีก 1 นิ้ว หรือประมาณ 67 เมตร ล้อมรอบด้วยปรางค์ทิศ และมณฑปทิศ องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องทำเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามมาก

พระปรางค์วัดอรุณฯ ตั้งอยู่หน้าวัดทางทิศใต้ หลังโบสถ์น้อยและวิหารน้อย เดิมสูง 8 วา หรือประมาณ 16 เมตรเท่านั้น เป็นปูชนียวัตถุที่สร้างขึ้นพร้อมกับโบสถ์และวิหารน้อย ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 โปรดให้เสริมสร้างพระปรางค์สูงถึง 1 เส้น 1 คืบ 1 นิ้ว และล้อมรอบด้วยปรางค์ทิศและมณฑปทิศ ปรางค์ทิศเป็นปรางค์องค์เล็กๆ อยู่ทิศละองค์ คือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ฝีมือของช่างในสมัยก่อนไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ในการสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ และยังคงแข็งแรงมาจนตราบถึงทุกวันนี้ได้

นอกจากความสวยงาม นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินขึ้นไปชมบนยอดพระปรางค์ได้อีกด้วย สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์รอบวัด มองเห็นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดไปจนถึงฝั่งพระนคร อย่างไรก็ดี บันไดขึ้นยอดพระปรางค์มีความชันสูงมาก จำต้องระวังในการเดินให้ดี อาจพลัดตกลงมาได้รับบาดเจ็บ

นอกจากพระปรางค์วัดอรุณฯ ใครที่มาถึงวัดอรุณแล้วก็ควรต้องแวะไปกราบนมัสการ พระพุทธรูปสำคัญศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพกราบไหว้ของพุทธศาสนิกชน ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดอรุณฯ มีความงดงาม ไม่แพ้พระอารามหลวงที่ไหนๆ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก"

พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ วัสดุโลหะผสมทอง ขนาดหน้าตัก 3 ศอกคืบ หรือ 1.75 เมตร ศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์

พระประธานองค์นี้ เล่าขานกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง

พระพุทธรูปองค์นี้ เดิมยังไม่มีพระนาม ประดิษฐานบนฐานชุกชี โปรดให้หล่อพัดแฉกใหญ่ตั้งไว้เบื้องพระพักตร์เช่นเดียวกับพระพุทธเทวปฏิมากร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บรรจุในพระบรมอาสน์ ตกแต่งผ้าทิพย์ประดับลายพระราช ลัญจกรเป็นรูปครุฑ แล้วถวายพระนาม พระพุทธรูปองค์นี้ ว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก"

ในรัชกาลที่ 5 ไฟไหม้พระอุโบสถวัดอรุณฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปบัญชาการดับไฟด้วยพระองค์เอง อัญเชิญพระบรมอัฐิออก จากนั้นบูรณปฏิสังขรณ์ให้มั่นคงแข็งแรง แล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิคืนดังเดิม

สิ่งที่น่าสนใจของวัดอรุณฯ ยังมีอีกมาก อาทิ ภายในพระอุโบสถยังมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ ช่างเขียนจิตร กรรมฝีมือชั้นครู พระอรุณหรือพระแจ้ง พระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น