วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พุทธศาสนาแบบตันตระ

(บทความจาก สภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย)

คำว่าพระพุทธศาสนาแบบตันตระ นั้นโดยทั่วไป ใช้เรียกพระพุทธศาสนาในอินเดียยุคหลัง กล่าวคือ มนตรยาน วัชรยาน หรือสหัชยาน การที่นิกายโยคาจาร ได้ย้ำถึงความสำคัญของวิญญาณและความเจริญของวิญญาณได้ค่อยๆทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายประการ ในพระพุทธศาสนา มนตร์ ธารณี และแผนภาพเป็นรูปวงกลมหรือสามเหลี่ยม เริ่มมีความสำคัญเพิ่มขึ้น สำหรับโยคี มนตร์เหล่านี้ถือกันว่ามีอำนาจขลังอย่างสำคัญ ถ้าจะเปรียบก็พอเปรียบกันได้กับ ปริตร ในคัมภีร์บาลี เพราะปริตรนั้น ก็ถือกันว่าสามารถป้องกันผู้ท่องบ่นให้พ้นจากความชั่วทั้งปวงได้ ครั้งหนึ่งการปฏิบัติแบบลึกลับ ถูกนำเข้ามาในพระพุทธศาสนา การปฏิบัตินั้น ต้องการผู้ปฏิบัติเพียงกลุ่มเล็กๆ ฉะนั้นการจะรักษาไว้ให้สืบต่อกันไปได้ จึงจำเป็นต้องมีสถาบันแห่งครูและศิษย์ (คุรุและเจฬะ) ปฏิบัติสืบต่อกันไปเรื่อยๆ

เพื่อจะรักษาธรรมชาติอันลึกลับของการปฏิบัตินั้นไว้ นักปฏิบัติจำต้องใช้ภาษาสัญลักษณ์ ซึ่งเข้าใจกันได้เฉพาะในหมู่นักปฏิบัติเท่านั้น สำหรับคนสามัญคำพูดเหล่านั้น มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง นักเขียนในนิกายนี้ได้ใช้ภาษาที่มีความหมายสองแง่ในทำนองเป็น “คำคม” ความหมายจริงๆของคำเหล่านั้นจะทำให้คนสามัญต้องสดุ้งตกใจ แต่สำหรับ “นักปฏิบัติ” เขาจะแปลความหมายไปอีกทาง คนธรรมดาย่อมแปลความหมายของคำต่างๆตามที่เคยแปลกันมา ฉะนั้นจึงทำให้เกิดความเข้าใจ ฉะนั้นจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง

ลักษณะอีกประการหนึ่งของพระพุทธศาสนาแบบตันตระ ก็คือเชื่อในเทพเจ้าและเทพีเป็นจำนวนมาก เขาเชื่อว่าด้วยความโปรดปรานของเทพเจ้าและเทพีเหล่านั้นผู้ปฏิบัติก็จะบรรลุ “สิทธิ” หรือความสำเร็จได้ เขามันจะสร้างรูปแสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าประทับนั่นอยู่ ในท่ามกลางเทพีเป็นจำนวนมาก

(เทพ เทพีที่เกิดมาก่อนในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งพระพุทธเจ้ามิได้ปฏิเสธว่า ไม่มีอยู่จริง ซึ่งนักตันตระชาวพุทธได้แปลงมาเป็นเทพพุทธะ เทพีพุทธะ ทั้งยังได้สร้าง พุทธเจ้าปางดุ พุทธมารดาปางดุขึ้น อีกทั้งยังมีเทพโพธิสัตว์ และเทพธรรมบาล อีกมาก นักตันตระชาวพุทธสร้างขึ้น มิใช่ต้องการความโปรดปรานของเทพพุทธะทั้งปวงเหล่านั้น แต่ต้องการได้คุณสมบัติของเทพพุทธะเหล่านั้น เพราะว่า เทพพุทธะเหล่านั้นแต่ละองค์ก็เป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์หนึ่งของสรรพชีวิต พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มีคุณสมบัติพิเศษจากอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นพิเศษในการบรรลุธรรม คุณสมบัตินั้นเป็นสิ่งที่นักตันตระต้องการเพื่อการบรรลุสิทธิ มิใช่การบูชาเพื่อให้ท่านโปรดปราน ศรีภัทร

ยังมีพระพุทธศาสนาอีกแบบหนึ่ง ที่เหมือนกับพระพุทธศาสนาแบบที่กล่าว มาแล้ว นั่นก็คือพระพุทธศาสนาแบบ วัชรยาน พระพุทธศาสนาแบบนี้ นอกจากจะไม่มีคำสอนที่ดีหรือบริสุทธิ์ตามแบบเดิมแล้ว ก็ยังผสมผสานกับประเพณีท้องถิ่น และยอมรับพิธีกรรมลึกลับและน่ากลัวต่างๆ จึงแพร่หลายอยู่ในหมู่ชนชั้นต่ำ ผู้นำทางศาสนาแบบนี้ปฏิบัติและส่งเสริมข้อปฏิบัติหลอกลวงต่างๆ เช่นข้อปฏิบัติ 5 ประการ เกี่ยวกับ ม. คือมัทยะ (น้ำเมา) มางสะ(เนื้อ) มัตสยา(ปลา) มุทรา(ผู้หญิง) และไมถุนะ(เสพเมถุน) ในหนังสือ ศรีสมาช(คุยหสมาช) สาธนมาลา ,ชญาณสิทธิ เป็นต้น เราจะพบว่ามีการเหยียบย่ำแม้กระทั่งศีล 5 ซึ่งเป็นรากฐานของพระพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่นในหนังสือ คุยหสมาช สนับสนุนให้มีการฆ่า การหลอกลวง การลัก และการเสพเมถุน ใครจะคิดบ้างว่า พระพุทธเจ้าทรงเห็นด้วยกับการกระทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ลัทธินี้ก็แพร่หลายไปกว้างขวาง ในอินเดียตะวันออก มหาวิทยาลัยวิกรมศีลา ซึ่งเป็นศูนยกลางแห่งการศึกษาแบบตันตระ ซึ่งค่อยๆแพร่หลายไปยัง เบงกอล อัสสัม และโอริสสา ประชาชนคนดีๆ ทั้งหลายต่างพากันต่อต้าน การปฏิบัติหลอกลวงเช่นนั้นอย่างหนักหน่วง และกระปฏิบัติหลอกลวงนี้เอง มีส่วนอย่างสำคัญ ในความเสื่อมศูนย์แห่งพระพุทธศาสนาในอินเดีย **(จากสองคอลัมท์ข้างบน ได้กล่าวถึงชนชั้นต่ำ ขอให้ท่านได้อ่านต่อไปจนจบแล้วจะเข้าใจในความเข้าใจผิดของตนต่อพุทธวัชรยาน ขออธิบายคำว่าชนชั้นต่ำ ตั้งแต่มีพุทธศาสนาขึ้นมา ผู้ที่ปฏิบัติพุทธธรรมได้ถูกจัดอันดับแม้ต่ำที่สุดก็ถูกเรียกว่า “บัณฑิต” ดังนั้นจึงมิไม่ชนชั้นต่ำเป็นชาวพุทธเลย แต่เราก็ต้องยอมรับว่า มีบุคคลชั้นต่ำซึ่งใช้ประโยชน์จากความศรัทธาของมหาชนต่อพุทธศาสนา พวกนี้มิเคยมีจิตใจใฝ่หาการบรรลุพุทธภาวะเลย เพียงอาศัยรูปแบบของชาวพุทธดำรงชีพ แล้วปฏิบัติตามตัณหาราคะของตน มิเคยได้พัฒนาใจ ขัดเกลาจิต ไม่เคยตีความในพุทธปรัชญาเพื่อการหลุดพ้น แต่พยายามตีความเพื่อสนองตัณหาแห่งตน เพราะรูปแบบที่ตนยืมมาดำรง ทำให้ตนมีเกียรติได้รับความเคารพจากมหาชน ยิ่งทำให้การหลอกลวงเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น อีกทั้งยังดึงดูดชนชั้นเดียวกันได้ให้เป็นเช่นเดียวกันได้มากขึ้นเรื่อยๆ

พระเจ้าอโศกได้จับผู้ปลอมตัวบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา ถึงหกหมื่นกว่าคน ผู้ปลอมตัวบวชเหล่านั้นชาวพุทธเรามิได้ยอมรับพวกเขาเป็นพุทธศาสนิก ถือเป็นชนชั้นต่ำที่แฝงตัวมาอาศัยหากินเท่านั้น แต่ในกรณีที่ท่านได้กล่าวว่าชนชั้นต่ำในวัชรยานเป็นตัวการทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมจนสูญสลาย แล้วทำไมท่านยังยอมรับเขาเหล่านั้นเป็นพุทธศาสนิกชน แล้วทำไมผู้ปลอมบวชในสมัยพระเจ้าอโศกเราไม่ถือเขาว่าเป็นพุทธศาสนิกชน พุทธศาสนาไม่ว่านิกายใดและลัทธิใดก็มีผู้ที่เป็นชาวพุทธที่แท้จริงและเป็นผู้ที่อาศัยพุทธศาสนาเกาะกินและบ่อนทำลายด้วยกันทั้งนั้น ทั้งเถรวาท มหายาน และวัชรยาน จึงมีทั้งผู้จรรโลงและทำลายด้วยกันทั้งนั้น

การกล่าวว่า เฉพาะชาวพุทธวัชรยานเป็นตัวการทำให้พุทธศาสนาต้องกลายเป็นศาสนาแห่งความสกปรก มั่วสุมอยู่ในโลกีย์ตัณหา จนตกต่ำและต้องสูญสลายไปจากดินแดนที่ให้กำเนิดนั้นถูกต้องหรือไม่ ในกรณีของข้อปฏิบัติ 5 ม.ซึ่งเป็นเรื่องของปรัชญา นักตันตระชาวพุทธให้ความหมายทางปรัชญาไปทางหนึ่ง แต่เราก็ห้ามมิใช่ชนชั้นต่ำซึ่งมิใช่นักตันตระชาวพุทธตีความไปตามที่ตนเองต้องการอีกทางหนึ่งไม่ได้ สุดท้ายชาวพุทธเราเองก็ร่วมมือกับชนชั้นต่ำซึ่งมิใช่ชาวพุทธ โจมตีชาวพุทธด้วยกันเองและสถาปนาชนชั้นต่ำที่ไม่ใช่ชาวพุทธให้เป็นชาวพุทธที่ทรงปัญญาจนสามารถทำลายพระพุทธศาสนาไปได้ หลักการของการปฏิบัติกับสุรา ที่กล่าวไว้ว่า เพื่อให้เกิดความมึนเมาจะได้สุดสวิงกิ้งอย่างเต็มที่ แต่การเกี่ยวข้องกับสุราของนักตันตระชาวพุทธยังคงปฏิบัติตามศีลข้อห้า คือให้ใช้เป็นกระสายยาได้ไม่เกินขนาดหนึ่งเมล็ดแตงโม แต่ในกรณีที่ พระอาจารย์ได้พบศิษย์ที่ทะนงตนว่าได้บรรลุการดำรงสติตลอดเวลาทุกสถานการณ์ พระอาจารย์จำนำสุรามาทดสอบกับศิษย์ การปฏิบัตินี้จะอยู่ในความควบคุมของพระอาจารย์ เรื่องเนื้อและปลา การเสพเนื้อเสพปลา ต้องเสพด้วยความเมตตา 1 สัตว์นั้นต้องถึงซึ่งกาลเอง 2 ต้องเสพด้วยจิตเมตตาเพื่อให้สัตว์นั้นได้สร้างกุศล 3

เนื้อสัตว์เมื่อมาบำรุงกายเราต้องคำนึงถึงจำนวนชีวิตของสัตว์ ควรเสพสัตว์ด้วยชีวิตจำนวนน้อย มากกว่าใช้ชีวิตสัตว์จำนวนมากในแต่ละมื้อ ส่วนคำว่ามุทรา ในที่กล่าวไว้ว่ามุทราแปลว่า ผู้หญิงที่มาร่วมเสพกาม แต่ในวัชรยานชาวพุทธ มุทราแปลว่าสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ คือคุณสมบัติของสิ่งซึ่งทำให้พระพุทธเจ้าในอดีต เป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้น มุทราคือสัญลักษณ์แห่งพุทธภาวะของพระพุทธเจ้าในอดีต หลักสุดท้ายคือ เมถุน เมถุนในพุทธวัชรยาน เป็นการปฏิบัติสมาธิจิตด้วยการ รวม ปัญญาและอุบายเข้าด้วยกัน เป็นการ เสพเมถุนภายในจิตของผู้ปฏิบัติเองคนเดียว(มีกล่าวไว้ในหนังสือหลักขอให้อ่านต่อไป) ธรรมะจะเป็นสิ่งประเสริฐ หรือเป็นเครื่องมือสุดต่ำช้า อยู่ที่ผู้นำเครื่องมือนั้นไปปฏิบัติ พุทธธรรมเมื่ออริยะชนชาวพุทธนำไปปฏิบัติ ก็นำจิตให้สูงขึ้นไปสู่ความเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างสมบูรณ์ แต่พุทธธรรมถ้าชนผู้มิใช่ชาวพุทธนำไปดัดแปลงแล้วปฏิบัติ เราคงไม่เรียกผู้ปฏิบัตินั้นว่าเป็นพุทธศาสนิกชน สามัคคีธรรมที่วัสสการพราหมณ์ นำธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไปดัดแปลงและปฏิบัติจนแคว้นวัชชีล่มสลาย เราจะถือว่าวัสสการพราหมณ์เป็นชาวพุทธ หรือ ชาวพราหมณ์ ศรีภัทร)

ในบรรดาพระพุทธศาสนาแบบต่างๆ คำสอนแบบตันตระถูกละเลยและเข้าใจผิดกันมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ว่า ตันตระนี้เกิดขึ้นจากประเพณีต่ำๆของพวกฮินดู และการปฏิบัติผิดๆซึ่งมีอยู่ในกลุ่มชนที่ไร้การศึกษา คำสอนแบบตันตระทุกอย่าง คนทั้งหลายรังเกียจกันมาก จนกระทั่งนักปราชญ์ก็ไม่กล้าแตะต้อง ผลก็คือ การสำรวจหรือการวิจัยอย่างตรงไปตรงมา ถูกทอดทิ้งเป็นเวลาช้านาน

นักปราชญ์ชาวยุโรป คนแรกที่กล้ารื้อฟื้นตันตระขึ้นมา โดยเฉพาะตันตระของฮินดูว่าด้วย กุณฑลินีโยคะ คือเซอร์ จอห์น วูดรอฟ ท่านผู้นี้ได้พิมพ์หนังสือชุดตันตระและปรัชญาตันตระขึ้นโดยใช้นามปากกาว่า อาร์เธอร์ อเวลอน ในคำนำเรื่องจักรสัมภารตันตระ เขากล่าวไว้ว่า “คนโง่เข้าใจความแท้จริงด้านจิตใจไม่ถูกต้อง เขาจึงเรียกความแท้จริงเข่นนั้นว่า ไสยศาสตร์ ความชั่วและความโง่นั้นมีอยู่มากแล้วตามธรรมชาติของมัน และมันได้สร้างวิชาให้เราศึกษาในแง่ตรงกันข้าม แต่ถ้าเราไม่ยึดถือความรู้นั้น ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความโต้เถียงกันทางศาสนา ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอย้ำว่า เราต้องเชื่อสติปัญญาและความยุติธรรมของเราเอง โดยพยายามเข้าใจศาสนาทุกศาสนาในแง่ที่ดีที่สุด และจริงที่สุด” แม้อเวลอนเอง ก็เชื่อว่า ลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงสาขาหนึ่งของลัทธิตันตระแบบฮินดู และเชื่อว่า ตำราซึ่งเขาค้นคว้านั้นเป็นหลักดั้งเดิมของตันตระทีเดียว ความเห็นนี้เป็นที่ยอมรับว่าถูกต้องมาโดยตลอดตราบเท่าที่ความรู้เรื่องตันตระจารคัมภีร์ของธิเบตยังไม่ได้เป็นที่รับรู้กันนอกดินแดนหิมาลัย เพราะคัมภีร์ตันตระเหล่านั้น ถึงแม้จะมีคำแปลแล้วแต่ก็ยังยากที่จะเข้าใจ ทั้งในด้านเหตุผล ในด้านประวัติศาสตร์ และในการปฏิบัติ

เหตุผลสำหรับเรื่องนี้ ก็คือว่าคัมภีร์เหล่านี้เราไม่สามารถจะเข้าใจได้เฉพาะในด้านปรัชญาเท่านั้น แต่เราเข้าได้จากประสบการณ์ด้านโยคะ ซึ่งไม่สามารถจะศึกษาได้จากหนังสือ ยิ่งกว่านั้นหนังสือซึ่งใช้ค้นคว้ากันนี้ ก็เขียนด้วยสำนวนแปลกๆ คือ ใช้ภาษาที่มีความหมายไม่ตรงตามตัวอักษร ซึ่งภาษาสันสกฤตเรียกว่า สนธยาภาษา

การใช้ภาษาที่มีความหมายไม่ตรงตามตัวอักษรนั้น ทำให้คนโง่ หรือผู้ที่ไม่ใช่นักปฏิบัติ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ และนำไปปฏิบัติผิดๆ อีกด้วย แต่ก็จำเป็นต้องใช้ภาษาเช่นนั้น เพราะภาษาธรรมดาไม่สามารถจะแสดงประสบการณ์สูงสุดของจิตใจได้ สิ่งที่นักปฏิบัติได้บรรลุนั้น อธิบายให้เข้าใจกันไม่ได้ แต่สามารถแนะนำให้ปฏิบัติตามได้ ด้วยการยกอุทาหรณ์ และใช้อุปมาเปรียบเทียบ

ลักษณะทำนองเดียวกันนี้ มีอยู่ในพระพุทธศาสนานิกายฌานของจีนและนิกายเซนของญี่ปุ่น เพราะนิกายทั้งสองนั้น ได้มีความสัมพันธ์กับนักปฏิบัติโยคะตันตระของพระพุทธศาสนาในยุคกลาง ผู้ปฏิบัติจนบรรลุผลเหล่านี้เรียกตัวเองว่า สิทธะ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในอินเดียระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-11 พวกนี้เองเป็นผู้ประกาศคำสอนแบบตันตระวัชรยาน คัมภีร์ลึกลับและกวีนิพนธ์เป็นจำนวนมากของเขา ถูกทำลายเกือบหมด เมื่อประเทศอินเดียถูกพวกมุสลิมรุกราน แต่หนังสือเหล่านั้น ส่วนใหญ่ ได้แปลเป็นภาษาธิเบต ประเพณีการบำเพ็ญโยคะ และสมาธิก็ถ่ายทอดกันเรื่อยมาเป็นเวลาหลายชั่วคน

อย่างไรก็ตาม ในอินเดีย ยังคงมีชนชั้นต่ำที่ปฏิบัติตันตระ โดยคลุกเคล้าไปกับประเพณีของคนเหล่านั้น จนในที่สุดก็หมดคุณค่ากลายเป็นลัทธิไสยศาสตร์ ซึ่งไม่ได้รับความเชื่อถือ จากนักปฏิบัติตันตระที่แท้จริง

การปฏิบัติตันตระแต่เก่าก่อนของชาวพุทธ ได้มีอิทธิพลต่อศาสนาฮินดูอย่างมากมาย และความจริงจังของชาวฮินดูในการใช้การปฏิบัติตันตระ ส่งผลให้นักปราชญ์ในการต่อมาเข้าใจว่าตันตระนั้นเกิดจากฮินดู และนิกายต่ำๆของพระพุทธศาสนายอมรับและนำเข้ามาใช้ในภายหลัง

จากหลักฐานที่ได้ค้นพบยืนยันว่า พระพุทธศาสนาได้มีการปฏิบัติตันตระกันแล้วตั้งแต่ มหาสังฆิกะยุคแรก ประมวลมนตราธารณีปิฎกของมหาสังฆิกะ ในหนังสือมัญชูศรีมูลกัลป์ปะ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า เขียนขึ้นในตริสตศตวรรษที่ 1 ได้มีการกล่าวถึง มนตร์ ธารณี มณฑลและมุทรา เป็นอันมาก เป็นความครบถ้วนสมบูรณ์ของการปฏิบัติตันตระ ฉะนั้นการกล่าวว่าชาวพุทธชั้นต่ำยอมรับและนำเข้ามาซึ่งตันตระของฮินดูมาปนเปื้อน ในคริสตศตวรรษที่7-11 จึงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริงเลย นักปราชญ์และผู้ปฏิบัติชาวพุทธได้ปฎิบัติตันตระมาก่อนฮินดูหลายศตวรรษ และก็มิใช่ปฏิบัติกันในหมู่ชาวพุทธชั้นต่ำ ผู้ที่ได้ศึกษาตันตระที่แท้จริงจึงรู้ว่า พุทธตันตระและฮินดูตันตระนั้น แม้มีคำเรียก คำกล่าว ที่คล้ายกัน และจุดประสงค์และการปฏิบัติต่างกันเป็นตรงกันข้าม

อาจารย์ศังกร นักปรัชญาฮินดูผู้ยิ่งใหญ่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 9 ผู้ได้เรียบเรียงหนังสือไว้เป็นรากฐานของปรัชญาไศวะ ได้ยอมรับเอาทรรศนะของนาครชุนและสาวกของนาครชุนเป็นอันมาก จนชาวฮินดูผู้เคร่งครัดระแวงว่าเขาอาจเป็นสาวกลับๆของพระพุทธศาสนา ในทำนองเดียวกัน นักตันตระฮินดูก็ได้ยอมรับเอาวิธีการ และหลักการแห่งลัทธิตันตระของพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงใช้ตามความต้องการของตน ทรรศนะดังกล่าวนี้ไม่ใช่จะยอมรัรบกันแต่ในประเทศธิเบตเท่านั้น แม้นักปราชญ์ชาวอินเดีย เมื่อได้สำรวจตรวจสอบคัมภีณ์พระพุทธศาสนาแบบตันตระ ที่เป็นภาษาสันสฤตยุคแรกๆ และได้ทราบความสัมพันธ์ระหว่างคัมภีร์เหล่านั้น กับคัมภีร์ตันตระของฮินดู ในด้านประวัติศาสตร์ และความคิดแล้วก็ยอมรับทรรศนะนั้นเหมือนกัน

ในหนังสือ “ลัทธิลึกลับของพระพุทธศาสนา” เบนอยโตช ภัตตาจารย์ ได้สรุปว่า “อาจกล่าวได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ว่าพุทธศาสนิกชนเป็นพวกแรกที่สร้างลัทธิตันตระขึ้นในศาสนาขนตน ต่อมาพวกฮินดูได้ยืมตันตระนั้นไปจากพุทธศาสนิก จึงเป็นการไร้ประโยชน์ที่กล่าวว่า พระพุทธศาสนารุ่นหลังเป็นสาขาหนึ่งของศาสนาไศวะ”

ออสติน แวดเดล เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้าใจผิดว่าลัทธิตันตระของฮินดู และของพระพุทธศาสนาใช้วิธีการทางไสยศาสตร์เหมือนกัน เขามักจะแสดงตัวเสมอว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาแบบธิเบต เขาแสดงความคิดเห็นว่า “ลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากลัทธิบูชาผีสางเทวดา สิ่งที่เรียกกันว่า “มนตร์” และ “ธารณี” ก็คือคำพูดที่ไร้ความหมาย พิธีกรรมลึกลับของลัทธิตันตระ ก็เป็นเพียงการเล่นกลอย่างโง่ๆ โดยใช้ภาษาที่ไม่มีใครรู้เรื่อง และไร้ความหมาย ส่วนการบำเพ็ญโยคะแบบตันตระก็เปรียบเหมือน “กาฝาก” หรือ “ตัวพยาธิ” ซึ่งเติบโตแพร่หลายเร็วอย่างน่ากลัว แล้วก็บ่อทำลาย “ชีวิตอันร่อแร่” ของพระพุทธศาสนาบริสุทธิ์ที่มีอยู่บ้างในฝ่ายมหายาน คำสอนของมาธยมิก โดยใจความแล้ว ก็เป็นอุจเฉทวาทะที่ใช้เหตุผลผิดๆ กาลจักรก็ไม่สมควรจะถือเป็นระบบปรัชญา” (ความรู้และความเข้าใจในพุทธตันตระของไทยแต่แรกเริ่ม ได้รับจากการแปลหนังสือเรื่องพุทธศาสนาตันตระยานหรือวัชรยานของ ออสติน แวดเดลทั้งสิ้น ศรีภัทร)

เพราะเหตุที่ชาวตะวันตกได้รับความรู้ เรื่องพระพุทธศาสนาแบบธิเบตเป็นครั้งแรกจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” เช่นนั้น เขาจึงพากันรังเกียจเกลียดชัง ลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง ผู้ทีศึกษาลัทธิตันตระ จากหนังสือที่ชาวตะวันตกเขียน ก็พลอยเกลียดลัทธินี้ตามชาวตะวันตกไปด้วย

การใช้หลักตันตระของฮินดูโดยเฉพาะ หลักของลัทธิ “ศักดิ” มาตัดสินคำสอนหรือสัญลักษณ์ต่างๆของลัทธิตันตระ ในพระพุทธศาสนานั้น ย่อมใช้ไม่ได้และเป็นการผิดพลาดย่างมหันต์ ทั้งนี้เพราะระบบทั้งสอง ใช้วิธีการหาเหตุผลแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าทั้งสองระบบจะใช้วิธีโยคะ ใช้ศัพท์เฉพาะหรือศัพท์ปรัชญาเหมือนกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาเป็นอันเดียวกันกับศาสนาพราหรมณ์ เพราะฉะนั้น กมาใช้ความรู้ตันตระในศาสนาฮินดู มาตีความตันตระในพระพุทธศาสนา หรือการใช้ความรู้ตันตระในพระพุทธศาสนา ไปตีความตันตระในศาสนาฮินดูจึงไม่ถูกต้อง
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น