วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ตำนานหนังตะลุง

นักวิชาการหลายท่าน ให้อรรถธิบายว่าหนังตะลุงหรือการละเล่นแบบแสดงเงา เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติ ที่แพร่หลายปรากฏทั้งในแถบประเทศยุโรป ตะวันออกกลางและเอเชียอาคเนย์ ดังปรากฏหลักฐานว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชมีชัยชนะแก่อิยิปต์ได้ใช้หนังตะลุงแสดง เฉลิมฉลองชัยชนะประกาศเกียรติคุณของพระองค์ หนังตะลุงมีแพร่หลายในประเทศอิยิปต์ก่อนพุทธกาล ในประเทศอินเดีย พวกพราหมณ์แสดงหนังบูชาเทพเจ้าและสดุดีวิระบุรุษ เรื่องมหากาพย์รามยณะ เรียกหนังตะลุง "ฉายานาฏกะ" ในประเทศจีนสมัยจักรพรรดิยวนตี่ (พ.ศ.๔๙๕-๔๑๑) พวกนักพรตลัทธิเต๋า ได้แสดงหนังสดุดีคุณธรรมความดีของสนมเอกผู้หนึ่งแห่งจักรพรรดิพระองค์นี้ เมื่อพระนางวายชนม์
ในสมัยต่อมา หนังตะลุงได้แพร่หลายเข้าสู่ในเอเชียอาคเนย์ เขมร พม่า ชวา มาเลเซีย และทางภาคใต้ของประเทศไทย ผู้เขียนมีความเชื่อว่า หนังใหญ่เกิดขึ้นก่อนหนังตะลุงน่าจะได้แบบมาจากอินเดีย ลัทธิพราหมณ์มีอิทธิพลต่อคนไทยมาก เราเคารพนับถือฤาษี พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม ยิ่งเรื่องรามเกียรติ์ มีบทบาทต่อคนไทยทั้งประเทศถือเป็นเรื่องขลังและศักดิ์สิทธิ์ หนังใหญ่จึงแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เริ่มแรกคงไม่มีจอ คนเชิดหนังจึงแสดงท่าทางประกอบการเชิดไปด้วยและหนังใหญ่เกิดขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหลักฐานอ้างอิงได้ว่า มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นชาวเวียงสระ จัวหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์และทางกวี พระเจ้าปราสาททอง ทรงรับสั่งเรียกตัวเข้ากรุงศรีอยุธยา ได้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาราชครู หรือพระโหราธิบดี ทรงมีรับสั่งให้พระมหาราชครูฟื้นฟูการเล่นหนังอันเป็นของเก่าแก่ขึ้นใหม่ ดังปรากฏในสมุทโฆษคำฉันท์ว่า

"ไหว้เทพยดาอา- รักษ์ทั่วทิศาดร
ขอสวัสดีขอพร ลุแก่ใดดังใจหวัง
ทนายผู้คอยความ เร่งตามใต้ส่องเบื้องหลัง
จงเรืองจำรัสทั้ง ทิศาภาคทุกพาย
จงแจ้งจำหลักภาพ อันยิ่งยวดด้วยลวดลาย
ให้เห็นแก่คนทั้งหลาย ทวยจะดูจงดูดี"

หนังใหญ่เดิมเรียกว่าหนัง เมื่อมีหนังตะลุงขึ้นในภาคใต้ รูปหนังที่ใช้เชิดเล็กกว่ามากจึงเรียกหนังที่มีมาก่อนว่าหนังใหญ่ หนังตะลุงเลียนแบบหนังใหญ่ย่อรูปหนังให้เล็กลง คงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนหนังใหญ่ เปลี่ยนบทพากย์เป็นภาษาพื้นเมือง เครื่องดนตรีจาก พิณพาทย์ ตะโพน มาเป็น ทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง โองการบทพากย์พระอิศวรหนังตะลุงก็ยังนำมาใช้อยู่ตอนหนึ่งว่า

"อดุลโหชันชโนทั้งผอง พิณพาทย์ ตะโพน กลอง
ข้าจะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู"

เครื่องดนตรีหนังตะลุง ไม่มีพิณพาทย์ ไม่มีตะโพนใช้เลย แต่เพราะเลียนแบบหนังใหญ่ จึงติดอยู่ในโองการร่ายมนต์พระอิศวร
ภาคใต้อยู่ระหว่างภาคกลางกับมาเลเซียและชวา หนังตะลุงจึงเอารูปแบบของหนังชวาที่เรียกว่า "วายัง" เข้ามาประสมประสานด้วยมือทั้ง ๒ ของหนังใหญ่เคลื่อนที่ไม่ได้ แต่ของหนังชวาเคลื่อนไหวได้ อย่างน้อยมือหน้าเคลื่อนที่ได้ รูปหนังตะลุงมือทั้ง ๒ เคลื่อนที่ เช่น รูปตลก รูปนาง ๒ แขน รูปทั่วไป มือหน้าเคลื่อนที่ รูปหนังชวาให้มีใบหน้าผิดจากคนจริง หนังตะลุงเลียนแบบ ทำให้หน้ารูปตลกผิดจากคนจริง เช่น นายหนูนุ้ยหน้าคล้ายวัว นายเท่งหน้าคล้ายนกกระงัง นายดิกมีปากเหมือนเป็ด เป็นต้น
หนังตะลุงเกิดเมื่อใด นักวิชาการถกเถียงกันมาก แต่ผู้เขียนค่อนข้างจะแน่ใจว่า หนังตะลุงเกิดขึ้นประมาณปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ ด้วยเหตุผลดังนี้
๑.สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่นิยมแต่งกลอนแปด ส่วนมากเป็นลิลิต โคลง กาพย์ พอจะมีตัวอย่างกลอนแปดคือเรื่องศิริบูลย์กิติ แต่เพิ่งมาแพร่หลายสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร กล่าวเรื่องศิริบูลย์กิติไว้ว่า
"กลอนแปดสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เพิ่งเริ่มไหวตัว ยังหาเป็นแบบประพันธ์ที่นิยมกันนักไม่"
ยิ่งในภาคใต้ วรรณกรรมพื้นบ้าน ที่เป็นของรุ่นเก่าแก่ ล้วนแต่งเป็นกลอนกาพย์ทั้งสิ้น เราพอจะได้แบบกลอนแปดเมื่อหนังสืออุณรุทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑ เกิดขึ้น กลอนแปดเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายกว้างขวาง เมื่อสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีออกเผยแพร่แล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องกากี รามเกียรติ์ อิเหนา สังข์ทอง มีลักษณะคล้ายกลอนแปด หนังตะลุงที่นิยมขับร้องกลอนแปดเป็นพื้น พอจะถือเป็นแบบได้
๒.ในบทละครเรื่องสังข์ทองของรัชกาลที่ ๒ มีคำกลอนตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

"เจ้าเงาะนอนถอนหนวดสวดสุบิน เล่นลิ้นละลักยักลำนำ"

ในหนังสือสุบินคำกาพย์ ได้กล่าวถึงการเล่นหนังตะลุงไว้ดังนี้

"สมเด็จภูธร ให้เล่นละคร โขนหนังมโนห์รา"

ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ให้ความเห็นว่า หนังที่เล่นคู่กับมโนห์รา ไม่ใช่หนังใหญ่ น่าจะหมายถึงหนังตะลุง
เรื่องนางแตงอ่อน วรรณกรรมท้องถิ่น มีข้อความกล่าวไว้ว่า

"โขนละครหุ่นหนัง โนราร้องดัง รับเพลงยวนดีตีเก้ง"

แสดงว่าในวรรณกรรมเรื่องนี้มีทั้งหนังตะลุงและมโนห์รา และเรื่องนางแตงอ่อน คงแต่งก่อนที่หนังมีชื่อใหม่ว่าหนังตะลุง
หนังจากภาคใต้เข้าไปเล่นในกรุงเทพฯครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นที่แถวนางเลิ้ง หนังที่เข้าไปครั้งนั้น ไปจากจังหวัดพัทลุง คนกรุงเทพฯจึงเรียกหนัง "พัทลุง" ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็นหนังตะลุง หนังที่เข้าไปกรุงเทพฯครั้งนั้น น่าจะเป็นหนังโรงที่ ๓ สืบจากหนังหนุ้ยโรงที่ ๑ หนักทอง หนังก้อนทอง เล่นคู่กันโรงที่ ๒ ดังบทไหว้ครูหนังแต่งโดยนายลั่นตอนหนึ่ง กล่าวไว้ว่า

"นายทองเกื้อที่สามขึ้นตามต่อ วิชาพอเชิดยักษ์ชักฤาษี
มุตโตสดศัพท์เสียงสำเนียงดี รูพาทีโอดครวญรูปนวลนาง
เขาออกชื่อลือดังหนังทองเกื้อ เล่นดีเหลือจนรุ่งพุ่งสว่าง
มีวิชาพากายไม่จืดจาง จนชาวบางกอกรับไปนับนาน"

ดูถึงฝีมือนายช่างแกะรูปหนัง น่าจะเลียนแบบรูปภาพเรื่องรามเกียรติ์ ที่ผนังกำแพงวัดพระแก้ว เพราะหนังรุ่นแรกล้วนแสดงเรื่องรามเกียรติ์เป็นพื้น ช่างแกะรูปหนังคงถ่ายทอดแบบมาในสมัยรัชกาลที่ ๒
หนังตะลุงโรงแรกของภาคใต้เกิดขึ้นที่จังหวัดใด นักวิชาการยังหาข้อยุติไม่ได้ ผู้เขียนเป็นชาวพัทลุง ไม่ได้ช่วงชิงให้หนังตะลุงเกิดที่พัทลุง แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว หนังโรงแรกน่าจะเกิดที่พัทลุง โดยมีข้ออ้างอิงดังนี้
๑.ถ้านายหนุ้ย นายหนักทอง นายก้อนทอง เป็นนายกองช้าง เดินทางระหว่างนครศรีธรรมราชกับเมืองยะโฮ ต้องผ่านพัทลุง เพราะผ่านทางสงขลาไม่ได้ มีทะเลสาบตอนออกอ่าวไทยกั้นขวาง การหยุดพักกองช้าง ก็น่าหยุดพักที่พัทลุงมากกว่าหยุดพักที่สงขลา
๒.การตั้งชื่อคนพัทลุง ชื่อหนุ้ยกันมากทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หนุ้ย หมายถึงเด็กเล็กๆ ถ้าเป็นผู้ชายก็เรียกว่าอ้ายหนุ้ย อ้ายตัวหนุ้ย ถ้าเป็นผู้หญิงก็เรียกว่าอีตัวหนุ้ย อีหมานุ้ย อีนางหนุ้ย เด็กที่มีอายุ ๗-๘ ปี แล้วยังงอแงกับพ่อแม่เรียกว่าทำหนุ้ย แม้ในปัจจุบันผู้ชายที่เรียกชื่อว่านายไข่หนุ้ยยังมีอีกจำนวนมาก นายหนุ้ยหนังโรงแรกจึงน่าจะเป็นชาวพัทลุง
๓.จากบทไหว้ครูของนายลั่น ตอนหนึ่งที่กล่าวว่า

"ออกโอษฐ์อ้าสาธกยกนิทาน เป็นนับนานหนังควนแต่เดิมมา
ถิ่นที่อยู่แหลมมะลายูทิศตะวันออก เป็นบ้านนอกอาคเนย์บูรทิศา
ชื่อบ้านควนเทียมทิมริมมรรคา ถางไร่ป่าปลูกผลตำบลนาน
มีพวกแขกปนไทยในบ้านนี้ อยู่เป็นที่เป็นถิ่นบุตรหลินหลาน
แต่นายหนุ้ยคนไทยใจเชี่ยวชาญ หัดชำนาญตีทับขับเป็นกลอน
แล้ววาดรูปขูดแกะแลพิลึก ช่างโตถึกเรียนรู้ไม่ครูสอน
รู้ต่างต่างอย่างเทพสิงหรณ์ ได้ฝึกสอนเริ่มชิดติดต่อมา"

ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการเกิดหนังขึ้นนั้น พัทลุงตั้งเมืองที่เขาไชยบุรี ต.บ้านควนมะพร้าว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมืองในสมัยนั้น มีเส้นทางใหญ่ผ่านทางทิศเหนือบ้านควนมะพร้าว จากลำปำไปจังหวัดตรังสำหรับเป็นทางช้างเดินเท้า เส้นทางนี้คือ ถนนพัทลุงตรังในปัจจุบัน พระยาบังส้นผู้ครองเมืองเป็นแขก จึงมีแขกจากปัตตานีมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดพัทลุงทั่วไป นานเข้าลูกหลานก็มีวัฒนะธรรมคล้ายคนไทย พระยาพัทลุง (ขุน) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากสุไลมานได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ที่บ้านควนมะพร้าวจึงมีพวกแขกปะปนอยู่ด้วย หนังนุ้ยน่าจะเป็นชาวบ้านควนมะพร้าว จึงเรียกหนังตะลุงสมัยนั้นว่า "หนังควน"
๔.นักวิชาการหลายท่าน เห็นพ้องกันว่าหนังทองเกื้อโรงที่ ๓ ที่แสดงที่กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นหนังที่พระยาพัทลุง (เผือก) นำไปจากเมืองพัทลุง ขณะนั้นพัทลุงตั้งเมืองอยู่ที่ลำปำแล้ว บ้านควนมะพร้าวอยู่ห่างจากลำปำไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒ กิโลเมตร เนื่องจากพระยาพัทลุง (เผือก) มีอายุมากแล้ว รัชกาลที่ ๓ จึงโปรดเกล้าให้รับราชการที่กรุงเทพฯ พระราชทานที่บ้าน สนามควาย (บริเวณตลาดนางเลิ้งในปัจจุบัน) เป็นที่อยู่อาศัย หนังทองเกื้อชาวบ้านควนมะพร้าว ใกล้ชิดกับพระยาพัทลุง (เผือก) มาก ไปอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลานานปี ดังบทไหว้ครูว่า

"มีวิชาพากายไม่จืดจาง จนชาวบางกอกรักไปนับนาน"

๕.จากหนังควนเป็นหนังตะลุง มีเหตุผลตามข้อ ๔ แล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ในตำนานละครอิเหนาว่า พวกบ้านควนมะพร้าว แขวงจังหวัดพัทลุง คิดเอาหนังแขกชวามาเล่นเป็นเรื่องไทยขึ้นก่อน แล้วจึงแพร่หลายไปที่อื่นในมณฑลนั้น เรียกกันว่าหนังควน เจ้าพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พาเข้ามากรุงเทพฯ ได้เล่นถวายตัวที่บางปะอินเป็นครั้งแรก เมื่อปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙ แม้พระองค์จะทรงกล่าวไว้ว่าหนังตะลุงเป็นของใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นออกจะค้านที่พระองค์ทรงบันทึกไว้ แต่ลองคิดถึงความเป็นจริง หนังตะลุงที่กล้าเล่นถวาย ต้องฝึกฝนมาอย่างชำนาญ มีครูหนังมาก่อนแล้ว หนังตะลุงจึงเกิดขึ้นก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ แน่นอน
๖.จังหวัดพัทลุงเสมือนหนึ่งเป็นศูนย์กลางของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และสงขลา เมื่อเกิดหนังตะลุงขึ้นที่พัทลุงก็แพร่หลายไปยังจังหวัดใกล้เคียงได้ง่าย จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ จนถึงปัจจุบัน มีคณะหนังตะลุงเป็นจำนวนมาก จากเหตุผลดังกล่าวแล้ว น่าจะได้ข้อยุติว่าใครเป็นหนังตะลุงโรงแรก เกิดขึ้นเมื่อใด ทำไมจึงมีชื่อว่า "หนังตะลุง"
นอกจากหนังตะลุงเป็นศิลปะพื้นเมืองของภาคใต้แล้ว ยังแพร่หลายไปยังภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ทำนองพากย์และเครื่องดนตรีประกอบการเชิด ผิดแผกแตกต่างกันไปตามสำเนียงภาษา ตามความนิยมของภาคนั้นๆ และไม่มีหนังตะลุงจำนวนมากเหมือนในภาคใต้
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น