วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ตำนานครุฑ


ครุฑมีจุดกำเนิดเดิมในศาสนาฮินดู เป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์

ตำนานครุฑ เป็นคำสอนในส่วนโมกษะธรรม

สะท้อนอิทธิพลของพระนารายณ์

จริง ๆ แล้ว ครุฑเป็นเทพที่มีเดชเกินหยั่งถึง แต่ไม่เคยแสดงอิทธิฤทธิ์สูงสุดของตน ด้วยยังไม่เคยพบคู่ศึกที่เหนือกว่า แม้ไร้ศาสตราวุธศักดิ์สิทธิ์ประจำกาย แต่เปี่ยมศิลปะแห่งการเอาชัย รุกรบได้ทุกภพภูมิ อิทธิเวทย์อันหลากหลายมาจากที่แห่งใด และแสงจรัสจ้าเมื่อยามแรกกำเนิดนั้น ขนาดพระอัคนียังต้องยอมรับตลอดมาว่าเดชศักดาแห่งครุฑนั้นเทียมตน

เหตุการณ์เมื่อครั้งบุกขึ้นสวรรค์ช่วงชิงน้ำอมฤต เพื่อนำมาไถ่อิสรภาพให้นางวินตา มารดาจากเหล่านาคนั้น เป็นกระบวนความที่สรุปรวบยอดพญาครุฑได้อย่างดี

กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงถอดความเป็นภาษาไทย ตอนหนึ่งว่า...

“ส่วนการรบแย่งอมฤตครั้งนั้น เหล่าเทพยาดาเตรียมต่อสู้พร้อมแล้ว ไม่ช้าพญานกก็ไปถึง เหล่าเทพยดาเห็นพญานกบินมาแต่ไกล ก็ตกใจอลหม่าน จนเกิดสู้รบกันขึ้นในพวกเดียวกัน ฝ่ายพญาครุฑครั้นบินไปถึงก็กระพือปีกพัดให้ฝุ่นตระหลบไปทั้งอากาศ แล้วเข้าทำร้ายเหล่าเทพยดาด้วยเล็บด้วยปาก และด้วยปีก จนเทพยดาได้รับความเจ็บปวดสิ้นฤทธิ์ไปเป็นอันมาก ฝ่ายพระอินทร์เมื่อเห็นฝุ่นตระหลบไปจนไม่เห็นตัวศัตรู ก็ตรัสแก่พระพายว่า ท่านจงพัดให้ฝุ่นกระจายไปโดยเร็วเถิด...

“พระพายได้ยินพระอินทร์ตรัสดังนั้น ก็พัดพาฝุ่นไปหมด เหล่าเทพยดาเห็นตัวพญานกก็พากันเข้าต่อสู้ด้วยอาวุธต่าง ๆ พญานกรบสู้ด้วยอาวุธซึ่งมีอยู่ในตัว คือเล็บ แลปากแลปีก เทพยดาทั้งหลายสู้ไม่ได้ ก็หนีไปตามทิศต่าง ๆ

“ฝ่ายพญานก ครั้นเทพยดาเปิดทางให้แล้ว ก็ตรงเข้าไปยังที่เก็บอมฤต เห็นเพลิงกองล้อมอยู่รอบ เพลิงนั้นมีเปลวร้อนเหมือนหนึ่งจะไหม้พระอาทิตย์เป็นผงได้ พญาครุฑเห็นดังนั้นก็จำแลงกายเป็นนกใหญ่มีปากเก้าสิบเก้าสิบ (8,100) ปาก แล้วบินไปอมน้ำในแม่น้ำซึ่งมีจำนวนเท่าจำนวนปาก กลับมาดับไฟที่ล้อมอมฤตอยู่นั้นได้

“ครั้นไฟดับแล้ว พญานกก็แปลงกายเป็นนกสีทอง ตรงเข้าจะไปถือเอาอมฤต พบจักร ๆ หนึ่งซึ่งคมเหลือหาที่เปรียบ จักรนั้นหมุนอยู่มิได้หยุด แลย่อมจะตัดกายผู้พยายามจะลักอมฤตให้ขาดไปได้ พญานกแลเห็นดังนั้น ก็แปลงกายเห็นนกตัวเล็กที่สุด แล้วโจนลอดช่องซึ่งเห็นในจักรนั้นเข้าไปด้วยความเร็ว ครั้นลอดพ้นจักรไปแล้ว ยังพบนาคสองตัวมีแสงเหมือนแสงไฟ มีลิ้นเหมือนฟ้าแลบ พ่นไฟพิษออกจากปาก แลมีตาอันไม่กระพริบ ผู้ใดเข้าไปให้นาคทั้งสองเห็นได้ด้วยตา ผู้นั้นย่อมจะเสียชีวิตไปในทันที พญาครุฑเมื่อเข้าไปพบนาคก็กระพือปีกให้เกิดฝุ่นเข้าตานาคทั้งสอง แล้วเข้าฉีกนาคเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยไป”
กระทั่งพระนารายณ์ต้องมาร่วมต้าน และตรงเข้าขวางปิดทาง ขณะเดียวกันก็ฉงนว่า เหตุใดครุฑซึ่งชิงอมฤตได้แล้วกลับไม่กลืนกินทันที ความข่มใจที่หนักแน่นนั้นเพื่อจุดประสงค์ใด เมื่อได้รู้ความจริง จึงสรรเสริญประทานพร

พรที่ครุฑต้องการคือ

“ข้าพเจ้าขออยู่สูงกว่าพระองค์ ขอเป็นผู้ไม่มีเวลาตาย แลไม่มีเวลาเจ็บ แม้ไม่ได้กินอมฤต และข้าพเจ้าขอถวายพรแก่พระองค์พรหนึ่งเช่นกัน”

พระนารายณ์จึงตอบว่า

“ขอให้ท่านเป็นพาหนะของข้า ร่วมแบกรับภารกิจอันยิ่งใหญ่ ขอให้ท่านสถิตย์อยู่ที่ยอดเสาธงของข้า เพื่อที่ท่านจะได้อยู่สูงกว่าข้า”

เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นพันธกิจชั่วนิรันดร์ระหว่างครุฑกับพระนารายณ์

มีการใช้รูปครุฑแทนองค์พระมหากษัตริย์ของไทยมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามความเชื่อในลัทธิเทวราชที่ว่าพระมหากษัตริย์คือพระนารายณ์อวตารลงมาในโลกมนุษย์

โดยมีครุฑเป็นราชพาหนะ


หากมองผ่านรายละเอียดทางรูปธรรมของตำนาน จนเห็นเพียงเงาร่างของนกแล้ว จะพบว่าทุกอารยธรรมในโลกมีตำนานสูงส่งด้วยความหมายทางเดียวกันของนกอยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับพันธกิจโดยตรงจากพระเจ้า เป็นผู้นำสาร หรือเป็นผู้นำพา

เป็นไปได้ว่า ความคิดของผู้คนไม่ว่ายุคสมัยใด ล้วนเทิดค่าต่อสิ่งที่อยู่เบื้องบน จนในด้านกลับเสมือนเป็นการลดทอนสิ่งที่อยู่ต่ำและใช้ชีวิตติดดินหรือใต้ดินไป

วิถีที่อยู่ติดพื้นคือ “โลกียะ” การบินได้คือ “โลกุตระ” เปรียบเสมือนการปฏิเสธโลกียวิสัย

และ “ปีก” คือเครื่องมือในการเชื่อมโยงระหว่างภพเป็นจริง เป็นลักษณะพิเศษพื้นฐานของเทพ เหนือธรรมชาติมนุษย์

ครุฑจึงเป็นสัญลักษณ์ของเทพสูงส่งผู้พิทักษ์ความถูกต้องในโลกทุกยุคทุกสมัย
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น