วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

อุกกาบาตในประเทศไทย


วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 19.40 น. ได้มีรายงานการเห็นลูกไฟขนาดใหญ่ ส่องแสงสว่างสีเขียวอมน้ำเงินเจิดจ้าสวยงามมาก เคลื่อนผ่านท้องฟ้าโดยสามารถเห็นได้ในพื้นที่ภาคกลางตอนบนถึงภาคเหนือ วันรุ่งขึ้นมีชาวบ้านที่ จ.ตาก อ้างว่าเก็บก้อนหินที่เชื่อว่าเป็นอุกกาบาตได้ เป็นข่าวที่สร้างความแตกตื่นอยู่ไม่กี่วันจนกระทั่งกรมทรัพยากรธรณีได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปตรวจพิสูจน์ พบก้อนหินดังกล่าวเป็นสีขาว ผิวขรุขระ มีรูพรุนทั่วทั้งก้อน เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว น้ำหนัก 4.5 กิโลกรัม ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีได้วิเคราะห์และสรุปว่าเป็นทูฟา (Tufa) ตะกอนเคมีที่ประกอบด้วยแคลเซียมคาร์บอเนต เกิดจากการตกตะกอนทางเคมีหรือการระเหยของน้ำจนทำให้เกิดการพอกเป็นเปลือกชั้นบาง ๆ โดยมักพบบริเวณน้ำพุ ธารน้ำไหล หรือในถ้ำ ไม่มีลักษณะที่แสดงว่าเป็นอุกกาบาตจากนอกโลกแต่อย่างใด

ดาวตกที่สว่างมากซึ่งนักดาราศาสตร์เรียกว่าลูกไฟหรือทับศัพท์ว่าไฟร์บอล (fireball) อย่างที่เห็นในคืนวันที่ 14 กรกฎาคมนั้นโดยปกติไม่ค่อยมีให้เราได้เห็นบ่อย ๆ ส่วนอุกกาบาตที่ตกลงสู่พื้นโลกยิ่งมีพบเห็นได้น้อยมาก แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วทั้งสองอย่างอาจมีอยู่พอสมควรแต่ส่วนใหญ่ไปตกในพื้นที่ป่า มหาสมุทร หรือสถานที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่

ก้อนหินจากอวกาศที่ตกลงบนพื้นโลกซึ่งเราเรียกว่าอุกกาบาตนั้นเป็นชิ้นส่วนของวัตถุในระบบสุริยะ เช่น ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ อุกกาบาตเหล่านี้ช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาการก่อกำเนิดและความเป็นมาของระบบสุริยะที่เราอยู่ อาจแบ่งประเภทของอุกกาบาตที่พบได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ อุกกาบาตหิน อุกกาบาตเหล็ก และอุกกาบาตเหล็กปนหิน นับถึงปัจจุบันประเทศไทยมีรายงานการค้นพบก้อนอุกกาบาตที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของจริงบันทึกไว้ 3 ครั้ง ได้แก่ อุกกาบาตนครปฐม (2466) อุกกาบาตเชียงคาน (2524) และอุกกาบาตบ้านร่องดู่ (2536) ข้อมูลด้านล่างนี้บางส่วนนำมาจากบทความของคุณพิชิต อิทธิศานต์ ตีพิมพ์ในนิตยสารอัพเดท ฉบับกรกฎาคม 2536 และจากฐานข้อมูลอุกกาบาตของสหรัฐอเมริกาที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ต

อุกกาบาตนครปฐม
อุกกาบาตนครปฐมตกลงมาจากฟ้าเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ของคืนวันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2466 โดยทะลุผ่านหลังคายุ้งข้าวของนายยอด ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครปฐม อุกกาบาตนครปฐมมีสองก้อน ก้อนเล็กหนัก 9.6 กิโลกรัม รวมสองก้อนหนักถึง 32.2 กิโลกรัม จัดเป็นอุกกาบาตหิน มีเหล็กเป็นส่วนผสมประมาณ 22% รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาขอยืมก้อนเล็กไปศึกษา และได้บริจาคชิ้นส่วนหนัก 413 กรัมให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสหรัฐฯ

อุกกาบาตเชียงคาน
อุกกาบาตเชียงคานเป็นอุกกาบาตหิน ประกอบด้วยอุกกาบาตก้อนเล็ก ๆ หลายก้อน ค้นพบหลังจากมีลูกไฟขนาดใหญ่สว่างกว่าแสงจันทร์ พุ่งผ่านท้องฟ้าภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อเวลา 5.30 น. ของเช้ามืดวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2524 ลูกไฟนั้นไประเบิดเหนือท้องฟ้าอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ใกล้พรมแดนไทย-ลาว มีเสียงดังกึกก้องกัมปนาทได้ยินไปทั่วจังหวัดเลยและจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง อุกกาบาตตกกระจัดกระจายในพื้นที่ประมาณ 24 ตารางกิโลเมตร

ทีมสำรวจจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ดร.ระวี ภาวิไล เก็บรวบรวมอุกกาบาตได้ 31 ก้อน น้ำหนักรวม 367 กรัม ลูกใหญ่ที่สุดหนัก 51.3 กรัม มีข้อสันนิษฐานว่าหากอุกกาบาตเชียงคานไม่ได้เป็นชิ้นส่วนจากแถบดาวเคราะห์น้อยหลักซึ่งโคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี มีความเป็นไปได้ว่ามันอาจจะเป็นชิ้นส่วนของดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล ต้นกำเนิดของฝนดาวตกสิงโต ฝนดาวตกที่เกิดเป็นประจำในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งประเทศไทยและเอเชียมองเห็นได้มากและชัดเจนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2541 และ 2544

อุกกาบาตบ้านร่องดู่
อุกกาบาตบ้านร่องดู่เป็นอุกกาบาตลูกสุดท้ายที่มีรายงานพบในประเทศไทย ตกลงมาในคืนวันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน 2536 เวลาประมาณ 20.45 น. บริเวณพื้นที่ใกล้บ้านของนายสาลีและนางคำหล้า รักก้อน บ้านร่องดู่ ตำบลลานบ่า อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ การตรวจสอบโดยนายสิโรตม์ ศัลยพงษ์ และ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล ฝ่ายวิจัยธรณีวิทยา กองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ยืนยันว่าเป็นอุกกาบาตเหล็ก มีประกายโลหะและความถ่วงจำเพาะสูง พบริ้วโลหะเป็นทางบนผิวอุกกาบาตซึ่งเกิดจากการเสียดสีกับบรรยากาศโลก ผิวนอกสุดมีรอยไหม้ ด้านหนึ่งมีรอยยุบบุบแบบก้นหม้อ อีกด้านฉีกขาดเป็นร่องหลืบ ลักษณะทั่วไปคล้ายตะกรันโลหะ ต่างกันที่ไม่มีรูพรุน

รูปร่างของอุกกาบาตบ้านร่องดู่คล้ายลูกสะบ้า กว้าง 7.5 นิ้ว ยาว 10 นิ้ว หนา 4.5 นิ้ว น้ำหนัก 16.7 กิโลกรัม ความถ่วงจำเพาะ 8.08 บริเวณที่พบอุกกาบาตเป็นที่ดอนดินปนทราย เนื้อแน่นปานกลาง ความชื้นต่ำ ลูกอุกกาบาตมุดลงไปในดิน ขณะไปตรวจสอบซึ่งเป็นเวลาหลังจากเอาลูกอุกกาบาตออกมาแล้วพบว่าบริเวณนั้นเป็นหลุมลึก 110 เมตร ประเมินได้คร่าว ๆ ว่าอุกกาบาตพุ่งมาจากทิศใต้เฉียงไปทางตะวันตก 15 องศา และพุ่งลงมาโดยทำมุมประมาณ 80 องศากับพื้นราบ

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นอุกกาบาต?
เบื้องต้นมีวิธีสังเกตก้อนหินที่อาจเป็นลูกอุกกาบาตได้ง่าย ๆ เช่น ลักษณะแตกต่างจากก้อนหินที่อยู่ในบริเวณข้างเคียง น้ำหนักของวัตถุนั้นผิดปกติ มีความแข็งมากเป็นพิเศษ ผิวไหม้เกรียมคล้ายถูกเผา อุกกาบาตส่วนใหญ่มีปฏิกิริยากับแม่เหล็กเนื่องจากมีส่วนผสมของเหล็กและนิกเกิล

ที่มา
พิชิต อิทธิศานต์, อุกกาบาต อาคันตุกะจากอวกาศ, นิตยสารอัพเดท, กรกฎาคม 2536
Meteoritical Bulletin Database - The Meteoritical Society/USGS
ข้อมูลเพิ่มเติม (4 มิถุนายน 2552)
วันที่ 21 พฤษภาคม 2552 มีรายงานข่าวการค้นพบวัตถุสีดำ ลักษณะคล้ายอุกกาบาต ตกทะลุหลังคาบ้านของนายสมศักดิ์ เชี่ยววิจิตร เขตเทศบาล จังหวัดพิษณุโลก ได้มีการตรวจสอบจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และยืนยันเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าเป็นอุกกาบาตจริง โดยพบว่าเป็นอุกกาบาตหินเนื้อเม็ด (chondrite) คาดว่ามาจากแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นซากที่เหลือจากการก่อกำเนิดระบบสุริยะ
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น